เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 6. ภูมิชสูตร

เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการไฟ แสวงหาไฟ เที่ยวเสาะหาไฟ จึงเอาไม้แห้ง
มาทำไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟ
ถ้าแม้บุรุษนั้นตั้งความหวังแล้ว เอาไม้แห้งมาทำไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟ
เขาก็สามารถได้ไฟ
ถ้าแม้ไม่ตั้งความหวังแล้ว ...
ถ้าแม้ทั้งตั้งความหวังและไม่ตั้งความหวังแล้ว ...
ถ้าแม้ตั้งความหวังก็มิใช่ ไม่ตั้งความหวังก็มิใช่ แล้วเอาไม้แห้งมาทำไม้สีไฟ
แล้วสีให้เป็นไฟ เขาก็สามารถได้ไฟ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะอุบายอันแยบคาย เขาจึงสามารถได้ไฟ แม้ฉันใด
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นสัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ เป็นสัมมาสมาธิ
ถ้าแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ตั้งความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
พวกเขาก็สามารถบรรลุผลได้
ถ้าแม้ไม่ตั้งความหวังแล้ว ...
ถ้าแม้ทั้งตั้งความหวังและไม่ตั้งความหวังแล้ว ...
ถ้าแม้ตั้งความหวังก็มิใช่ ไม่ตั้งความหวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์
พวกเขาก็สามารถบรรลุผลได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะอุบายอันแยบคาย พวกเขาจึงสามารถบรรลุผลได้
ภูมิชะ ถ้าเธอพึงอธิบายอุปมา 4 ข้อนี้ ให้แจ่มแจ้งแก่ชยเสนราชกุมารได้
ชยเสนราชกุมารจะพึงเลื่อมใสเธออย่างน่าอัศจรรย์ และชยเสนราชกุมารผู้เลื่อมใส
แล้ว จะพึงทำอาการของบุคคลผู้เลื่อมใสแก่เธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :267 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 7. อนุรุทธสูตร

ท่านพระภูมิชะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เฉพาะข้าพระองค์จัก
อธิบายอุปมา 4 ข้อนี้อันน่าอัศจรรย์ ที่ข้าพระองค์ยังไม่เคยได้สดับมาก่อน ให้
แจ่มแจ้งแก่ชยเสนราชกุมาร เหมือนพระผู้มีพระภาคได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระภูมิชะมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ภูมิชสูตรที่ 6 จบ

7. อนุรุทธสูตร
ว่าด้วยพระอนุรุทธะ

[229] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ เรียกชาย
คนหนึ่งมาสั่งว่า
“มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เธอจงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ กราบเท้า
ท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราแล้วกราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ช่างไม้ปัญจกังคะกราบเท้าท่านพระอนุรุทธะด้วยเศียรเกล้า’ และจงกราบเรียนอย่าง
นี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพระอนุรุทธะโปรดนับตนเองเป็นรูปที่ 4 นิมนต์
รับภัตตาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอพระคุณเจ้าโปรดมาแต่เช้า ๆ
เพราะช่างไม้ปัญจกังคะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำทางราชการมาก”
ชายคนนั้นรับคำแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ กราบแล้ว นั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนท่านพระอนุรุทธะว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ช่างไม้
ปัญจกังคะกราบเท้าพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบเรียนอย่างนี้ว่า
‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพระอนุรุทธะโปรดนับตนเองเป็นรูปที่ 4 นิมนต์รับ
ภัตตาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอพระคุณเจ้าโปรดไปแต่เช้า ๆ
เพราะช่างไม้ปัญจกังคะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำทางราชการมาก”
ท่านพระอนุรุทธะรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :268 }