เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 5. ทันตภูมิสูตร

[221] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจาก
กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’
รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ภิกษุนั้นเป็นผู้อดทน คือ มีชาติของผู้อดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน
ความหิว ความกระหาย ต่อสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์
เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำที่กล่าวร้าย ถ้อยคำที่ใส่ร้าย ต่อทุกขเวทนากล้า
อย่างหนัก เผ็ดร้อน อันมีในสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อความไม่สำราญ ต่อความ
ไม่ชอบใจ พอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนั้นกำจัดราคะ โทสะ โมหะทั้งปวงและกำจัด
กิเลสเพียงดังน้ำฝาดได้แล้ว เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ
ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก1
[222] อัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ที่ควาญช้างยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้ม
ลง(ตาย) ย่อมถึงการนับว่า ‘ช้างหลวงแก่ล้มอย่างไม่ได้ฝึก’
ถ้าช้างหลวงรุ่นกลาง ฯลฯ