เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 2. มหาสุญญตสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค
เป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบาย
เนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาค
แล้วจักทรงจำไว้”
[192] “อานนท์ สาวกไม่ควรติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตะ เคยยะ และ
เวยยากรณะ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะธรรมทั้งหลายอันเธอทั้งหลายสดับ ทรงจำ คล่องปาก เพ่งพินิจ
ด้วยจิต รู้แจ้งแทงตลอดดีแล้ว สิ้นกาลช้านาน แต่สาวกก็ควรติดตามศาสดา
อย่างใกล้ชิด เพื่อฟังเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องความมักน้อย เรื่องความสันโดษ
เรื่องความสงัด เรื่องความไม่คลุกคลีกัน เรื่องการปรารภความเพียร เรื่องศีล
เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลา
กิเลสอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแก่ความเป็นไปแห่งจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดย
ส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และ
เพื่อนิพพาน
อานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของอาจารย์จึงมีได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น
อุปัทวะของศิษย์จึงมีได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์จึงมีได้
[193] อุปัทวะของอาจารย์ เป็นอย่างไร
คือ ศาสดา1บางคนในโลกนี้ พักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้
ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อศาสดานั้นหลีกออก
อยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา
เมื่อพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ศาสดานั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 2. มหาสุญญตสูตร

ย่อมยินดีความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะเวียนกลับมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
ศาสดานี้เราเรียกว่าอาจารย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของอาจารย์ บาปอกุศลธรรม
อันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก
เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าศาสดานั้น
อานนท์ อุปัทวะของอาจารย์ เป็นอย่างนี้
[194] อุปัทวะของศิษย์ เป็นอย่างไร
คือ สาวกของศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนความสงัดตามศาสดานั้น จึงพักอยู่
ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคม
และชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท
พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมยินดีความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะเวียน
กลับมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก สาวกนี้เราเรียกว่าศิษย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของ
ศิษย์ บาปอกุศลธรรมอันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าสาวกนั้น
อานนท์ อุปัทวะของศิษย์ เป็นอย่างนี้
[195] อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้
มีพระภาค ตถาคตนั้นย่อมพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น
พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์
และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ตถาคตนั้นย่อมไม่ยินดี
ความหมกมุ่น ไม่ถึงความอยากได้ ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนความสงัดตามตถาคตผู้ศาสดา
พระองค์นั้น ย่อมพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :231 }