เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[175] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา
ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา
ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เพราะอาสวะสิ้นไป เราพึงทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เพราะอาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในภพไหน ๆ อีก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

สังขารูปปัตติสูตรที่ 10 จบ
อนุปทวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อนุปทสูตร 2. ฉวิโสธนสูตร
3. สัปปุริสสูตร 4. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
5. พหุธาตุกสูตร 6. อิสิคิลิสูตร
7. มหาจัตตารีสกสูตร 8. อานาปานัสสติสูตร
9. กายคตาสติสูตร 10. สังขารูปปัตติสูตร

เกิดขึ้นในวันเพ็ญ 2 วันเพ็ญ
คราวที่ดวงจันทร์บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน
พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเป็นธรรมอันมิใช่กิจของพระองค์
รวมกันขึ้นเป็นวรรคอันสำคัญชื่อว่าอนุปทวรรคที่ 2
มีพระธรรมเทศนาอันประเสริฐที่ชนเป็นอันมากเสพแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :214 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 1. จูฬสุญญตสูตร

3. สุญญตวรรค
หมวดว่าด้วยสุญญตา
1. จูฬสุญญตสูตร
ว่าด้วยสุญญตา สูตรเล็ก

[176] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน
บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่หลีกเร้น
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร1 ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของ
เจ้าศากยะชื่อนครกะ แคว้นสักกะ ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ ปัจจุบันนี้ เราอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรม2
โดยมาก ข้อนี้ข้าพระองค์ได้สดับมาดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจไว้ดีแล้ว ทรงจำไว้
ดีแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกต้อง อานนท์ ข้อนั้นเธอสดับมาดีแล้ว รับมาดี
แล้ว ใส่ใจไว้ดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่ด้วยสุญญตา-
วิหารธรรมโดยมาก เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมาตาหลังนี้ ว่างจากช้าง โค
ม้า และลา ว่างจากทองและเงิน ว่างจากการชุมนุมของสตรีและบุรุษ ไม่ว่างอยู่
อย่างเดียวคือภิกษุสงฆ์เท่านั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใส่ใจความ
สำคัญว่าบ้าน ไม่ใส่ใจความสำคัญว่ามนุษย์ ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะความสำคัญว่าป่า
จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในความสำคัญว่าป่า