เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 9. กายคตาสติสูตร

[156] ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนแห่งวิชชา1ย่อมเป็นภาวนาที่หยั่งลงในจิตของ
ภิกษุนั้น มหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งสัมผัสด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งที่
ไหลไปสู่สมุทรย่อมปรากฏภายในจิตของผู้นั้น แม้ฉันใด กายคตาสติอันภิกษุรูปใด
รูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนแห่งวิชชา
ย่อมเป็นภาวนาที่หยั่งลงในจิตของภิกษุนั้น2 ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ ไม่ทำให้มากแล้ว
มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์3ของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนบุรุษเหวี่ยงก้อนศิลาหนัก
ไปที่กองดินเปียก เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ก้อนศิลาหนักนั้น
จะพึงจมลงในกองดินเปียกนั้นได้ไหม”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ
ไม่ทำให้มากแล้ว มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนไม้แห้งสนิท ต่อมา บุรุษนำไปทำเป็นไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
บุรุษนั้นใช้ไม้ที่แห้งสนิทโน้นมาทำเป็นไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ
ไม่ทำให้มากแล้ว มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนหม้อน้ำว่างเปล่า ที่เขาตั้งไว้บนเครื่องรอง ต่อมา บุรุษถือเอา
หม้อน้ำนั้นมาทำเป็นเครื่องตักน้ำ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
บุรุษนั้นจะพึงตักน้ำได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 9. กายคตาสติสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่
เจริญ ไม่ทำให้มากแล้ว มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
[157] ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนบุรุษโยนกลุ่มด้ายเบา ๆ ลงบนแผ่นกระดานเรียบ ที่ทำด้วยไม้
แก่นล้วน เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นพึงโยนกลุ่มด้าย
เบา ๆ นั้นลงบนแผ่นกระดานเรียบที่ทำด้วยไม้แก่นล้วนได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนไม้สดมียาง ต่อมา บุรุษนำไปทำเป็นไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
บุรุษนั้นเอาไม้สดที่มียางโน้นมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มได้ ที่
เขาตั้งไว้บนเครื่องรอง ต่อมา บุรุษถือเอาหม้อน้ำนั้นมาทำเป็นเครื่องตักน้ำ เธอ
ทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะพึงตักน้ำได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
[158] ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อมีสติเป็นเหตุ ย่อมถึงความเป็นผู้ประจักษ์ชัดในธรรมที่ควร
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :204 }