เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 7. มหาจัตตารีสกสูตร

คือ เรากล่าวสัมมาสังกัปปะว่ามี 2 ได้แก่
1. สัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
2. สัมมาสังกัปปะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็น
องค์แห่งมรรค
สัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความ
ดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เป็นสัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้
ผลคืออุปธิ
สัมมาสังกัปปะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่ง
มรรค เป็นอย่างไร
คือ ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่วแน่ ความแนบแน่น
ความปักใจ ความปรุงแต่งคำ ของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้
เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาสังกัปปะอันเป็นอริยะ
ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อ
ละมิจฉาสังกัปปะ ยังสัมมาสังกัปปะให้ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้นเป็น
สัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะ มีสติเข้าถึงสัมมาสังกัปปะอยู่
สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม 3 นี้ คือ (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาวายามะ
(3) สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาสังกัปปะของภิกษุนั้นไป ด้วยประการ
ฉะนี้
[138] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ 7 นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉาวาจาว่า ‘เป็นมิจฉาวาจา’ รู้ชัดสัมมาวาจาว่า ‘เป็น
สัมมาวาจา’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาวาจา เป็นอย่างไร
คือ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ นี้เป็น
มิจฉาวาจา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :177 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 7. มหาจัตตารีสกสูตร

สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวสัมมาวาจาว่ามี 2 ได้แก่
1. สัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
2. สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์
แห่งมรรค
สัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูด
ส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการ
พูดเพ้อเจ้อ นี้เป็นสัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค
เป็นอย่างไร
คือ การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากวจีทุจริต 4
ของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค
เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ
เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา ยังสัมมาวาจาให้ถึงพร้อม
อยู่ ความพยายามของภิกษุนั้นเป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติ ละมิจฉาวาจา
มีสติเข้าถึงสัมมาวาจาอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม 3 นี้ คือ
(1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาวายามะ (3) สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมคล้อยตาม
สัมมาวาจาของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้
[139] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ 7 นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉากัมมันตะว่า ‘เป็นมิจฉากัมมันตะ’ รู้ชัดสัมมากัมมันตะว่า
‘เป็นสัมมากัมมันตะ’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :178 }