เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 5. พหุธาตุกสูตร

5. พหุธาตุกสูตร
ว่าด้วยธาตุมากอย่าง

[124] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภัย1ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจาก
บัณฑิต อุปัททวะ2ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต
อุปสรรค3ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต
ภัยทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปัททวะ
ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปสรรคทั้งปวงที่เกิดขึ้น
ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต เปรียบเหมือนไฟที่ลุกลามจากเรือนไม้อ้อ
หรือเรือนหญ้า ไหม้แม้เรือนยอดที่เขาโบกทั้งภายในและภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้
มีบานประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ฉะนั้น
คนพาลมีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัททวะ บัณฑิตไม่มีอุปัททวะ
คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ภัยไม่มีจากบัณฑิต อุปัททวะไม่มีจาก
บัณฑิต อุปสรรคไม่มีจากบัณฑิต4


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 5. พหุธาตุกสูตร

เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็น
บัณฑิต”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอ จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาเครื่องไตร่ตรอง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ฉลาดใน
อายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะและอฐานะ อานนท์ ด้วย
เหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาเครื่องไตร่ตรอง”

ผู้ฉลาดในธาตุ

[125] ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ธาตุ 18 ประการนี้ คือ
1. จักขุธาตุ (ธาตุคือจักขุประสาท)
2. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์)
3. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือจักขุวิญญาณ)
4. โสตธาตุ (ธาตุคือโสตประสาท)
5. สัททธาตุ (ธาตุคือสัททารมณ์)
6. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือโสตวิญญาณ)
7. ฆานธาตุ (ธาตุคือฆานประสาท)
8. คันธธาตุ (ธาตุคือคันธารมณ์)
9. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือฆานวิญญาณ)
10. ชิวหาธาตุ (ธาตุคือชิวหาประสาท)
11. รสธาตุ (ธาตุคือรสารมณ์)
12. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือชิวหาวิญญาณ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :161 }