เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค]
4. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกายสมาจารไว้ 2 ประการ คือ
1. กายสมาจารที่ควรเสพ
2. กายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
กายสมาจารทั้ง 2 ประการนั้นเป็นกายสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
กายสมาจารเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจารเช่นนี้ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือ
เปื้อนเลือด ชอบฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของไม่ได้ให้ คือถือเอาทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยความเป็นขโมย และเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือเป็น
ผู้ละเมิดจารีตในหญิงที่อยู่ในปกครองของมารดา หญิงที่อยู่ในปกครองของบิดา
หญิงที่อยู่ในปกครองของมารดาและบิดา หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว หญิงที่อยูในปกครองของญาติ หญิงที่อยู่
ในปกครองของตระกูล หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง หญิงที่มีสามี หญิงที่มีสินไหมติด
ตัวอยู่ โดยที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ
และศัสตราวุธแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่ เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ คือ
ไม่ถือเอาทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้านหรือในป่า ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :148 }