เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 2. ฉวีโสธนสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม
มนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ข้าพเจ้านั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวรเช่นนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
ข้าพเจ้านั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน
การตื่น การพูด การนิ่ง
ข้าพเจ้านั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ
แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า
ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ข้าพเจ้านั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ มีจิต
ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัย
ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
[104] ข้าพเจ้านั้นละนิวรณ์ 5 ประการนี้ ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บั่นทอน
กำลังปัญญา สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก
วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่
ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน
ฯลฯ อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :124 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 3. สัปปุริสสูตร

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ข้าพเจ้านั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’
เมื่อข้าพเจ้ารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป’ ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จึงถอนอหังการ มมังการ
และมานานุสัย1ในกายที่มีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิตภายนอกได้
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายได้ดีแล้ว
ที่พิจารณาเห็นท่านผู้มีอายุเช่นท่านเป็นเพื่อนพรหมจารี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ฉวิโสธนสูตรที่ 2 จบ

3. สัปปุริสสูตร
ว่าด้วยธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ

[105] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า