เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 2. ฉวิโสธนสูตร

ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า

หลักการตรวจสอบเรื่องการถอนอนุสัย

[102] ‘ท่านผู้มีอายุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงถอนอหังการ มมังการ และ
มานานุสัย ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอกได้ด้วยดี’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ายังครองเรือนอยู่ ยังเป็นผู้ไม่รู้ พระตถาคต หรือสาวก
ของพระตถาคต ได้แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้สดับธรรมนั้นแล้ว จึงเกิด
ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อมีศรัทธา ย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่อง
อึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทาง
ที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตเถิด’

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

ต่อมา ข้าพเจ้าละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกน
ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ข้าพเจ้า
บวชแล้วอย่างนี้ ถึงความเป็นผู้มีสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือ
1. ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มี
ความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
2. ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ คือรับเอา
แต่สิ่งของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่สิ่งของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคน
สะอาดอยู่
3. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :121 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 2. ฉวิโสธนสูตร

4. ละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
5. ละ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่
ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้ว
ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่ง
เสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชม ยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน
พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
6. ละ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
7. ละ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่กาลเวลา
8. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม1และภูตคาม2
9. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล3
10. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
ที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
11. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอมและเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
12. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
13. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
14. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ4
15. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ