เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 2. ฉวิโสธนสูตร

‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปว่า ‘ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้ง
แห่งความชื่นใจ’ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่นได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนา ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญา ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขาร ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณว่า ‘ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความชื่นใจ’ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ และอนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่นได้
ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะ
ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า

หลักการตรวจสอบธาตุ 6 ประการ

[100] ‘ท่านผู้มีอายุ ธาตุ 6 ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว
ธาตุ 6 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) 2. อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)
3. เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) 4. วาโยธาตุ(ธาตุลม)
5. อากาสธาตุ(ธาตุคืออากาศ) 6. วิญญาณธาตุ(ธาตุคือวิญญาณ)

ท่านผู้มีอายุ ธาตุ 6 ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้
อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นในธาตุ 6 ประการนี้ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :118 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 2. ฉวิโสธนสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นปฐวีธาตุโดยความเป็นอัตตา และมิได้ยึดมั่นอัตตาที่
อาศัยปฐวีธาตุ’ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่น
ได้
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นอาโปธาตุ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นเตโชธาตุ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นวาโยธาตุ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นอากาสธาตุ ฯลฯ
ข้าพเข้ามิได้ยึดมั่นวิญญาณธาตุโดยความเป็นอัตตา และมิได้ยึดมั่นอัตตาอัน
อาศัยวิญญาณธาตุ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป
เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะ
ความสละคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจ
มั่นและความปักใจมั่นได้ ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ จึง
หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นในธาตุ 6 ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า

หลักการตรวจสอบอายตนะ 12 ประการ

[101] ‘ท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างละ 6
ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :119 }