เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 9. พหุเวทนิยสูตร

แม้ครั้งที่ 3 ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “ท่านอุทายี
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ 3 ประการ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้
เพียง 2 ประการ คือ (1) สุขเวทนา (2) ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขที่สงบประณีต”
ท่านพระอุทายีไม่สามารถให้ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายียินยอมได้
[89] ท่านพระอานนท์ได้ยินการสนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายีกับ
ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถึงการสนทนาปราศรัยของท่านพระอุทายีกับช่างไม้ชื่อ
ปัญจกังคะทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
“อานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตามบรรยาย1ที่มีอยู่ของอุทายี ส่วน
อุทายีก็ไม่คล้อยตามบรรยายที่มีอยู่ของช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ

ประเภทแห่งเวทนา

อานนท์ เรากล่าวเวทนา 2 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา
3 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 5 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าว
เวทนา 6 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 18 ประการไว้โดยบรรยายก็มี
กล่าวเวทนา 36 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 108 ประการไว้โดย
บรรยายก็มี
ธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดยบรรยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดย
บรรยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักไม่รู้ ไม่สำคัญ ไม่ชื่นชมตามคำที่เรากล่าวเจรจาดีแล้ว
แก่กันและกัน ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ว่า จักบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 9. พหุเวทนิยสูตร

ธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดยบรรยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดย
บรรยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักรู้ สำคัญ ชื่นชมตามคำที่เรากล่าวเจรจาดีแล้ว
แก่กันและกัน ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ว่า จักพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่

กามสุข

[90] อานนท์ กามคุณ 5 ประการนี้
กามคุณ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
3. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
4. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
5. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณ 5 ประการนี้
สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ 5 ประการนี้ เราเรียกว่า กามสุข
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่างยิ่งนี้’
เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :92 }