เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 1. กันทรกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบใน
การทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
[9] บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็น
อย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก1แล้วก็ดี
เป็นพราหมณมหาศาลก็ดี พระราชานั้นโปรดให้สร้างโรงบูชายัญหลังใหม่ ทางด้าน
ทิศตะวันออกแห่งพระนคร ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ
ทรงทาพระวรกายด้วยเนยใสและน้ำมัน ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไป
ยังโรงบูชายัญหลังใหม่พร้อมด้วยพระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นหญ้า
เขียวขจี มิได้ลาดด้วยเครื่องปูลาด ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ 1 แห่งโค
แม่ลูกอ่อนที่มีอยู่ตัวเดียว พระมเหสีดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ 2 พราหมณ์
ปุโรหิตดำรงชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ 3 ทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมเต้าที่ 4 ลูกโคมี
ชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชารับสั่งอย่างนี้ว่า ‘จงฆ่าโคตัวผู้ประมาณเท่านี้
บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวเมียประมาณเท่านี้
บูชายัญ จงฆ่าแพะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าแกะประมาณเท่านี้บูชายัญ (จงฆ่าม้า
ประมาณเท่านี้บูชายัญ) จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้เพื่อทำเสาบูชายัญ จงเกี่ยวหญ้า
ประมาณเท่านี้เพื่อลาดพื้น’ เหล่าชนผู้เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดี
ของพระราชานั้น ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ไป
ทำงานไป
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการ
ทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน