เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 7. กุกกุรวติกสูตร

เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะ
บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส1 4 เดือน หลังจาก 4 เดือน
ล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ ข้าพระองค์จักขออยู่
ปริวาส 4 ปี หลังจาก 4 ปีล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จงให้บรรพชาอุปสมบท
เป็นภิกษุเถิด”
ชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ
พระผู้มีพระภาค เมื่อบวชแล้วไม่นาน จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์2 ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว3
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว4 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสนิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย ดังนี้แล

กุกกุรวติกสูตรที่ 7 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 8. อภยราชกุมารสูตร

8. อภยราชกุมารสูตร
ว่าด้วยพระราชกุมารพระนามว่าอภัย

[83] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พระราชกุมารพระนามว่าอภัยเสด็จเข้าไปหานิครนถ์
นาฏบุตรถึงที่อยู่ ทรงไหว้นิครนถ์ นาฏบุตรแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร นิครนถ์
นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า
“เสด็จไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปโต้วาทะกับพระสมณ-
โคดมเถิด เมื่อพระองค์ทรงโต้วาทะกับพระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงาม
ของพระองค์จักระบือไปว่า ‘อภัยราชกุมารทรงโต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากอย่างนี้”
อภัยราชกุมารตรัสถามว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะโต้วาทะกับพระสมณโคดม
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้อย่างไร”
นิครนถ์ นาฏบุตรทูลตอบว่า “มาเถิดพระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้า
ไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วตรัสถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ มีบ้างไหมที่พระตถาคตตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของ
คนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้วจะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร มีบ้างที่
ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชน1 เพราะปุถุชนก็กล่าววาจา
อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว