เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

ก็แล พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อน
แล้วจึงทำเถิด การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียง
เช่นท่าน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ 2 ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
[68] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวก
นิครนถ์มานานแล้ว ท่านควรเข้าใจว่า ควรให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไป
หาต่อไปเถิด”
อุบาลีคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยพระดำรัสที่พระผู้มี
พระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์
มานานแล้ว ท่านควรเข้าใจว่า ควรให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปหา
ต่อไปเถิด’ นี้ ข้าพระองค์ยิ่งมีใจยินดีชื่นชมต่อพระผู้มีพระภาคมากยิ่งขึ้น ข้าพระองค์
ได้ฟังคำนี้มาว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘บุคคลควรให้ทานแก่เราเท่านั้น
ไม่ควรให้แก่คนเหล่าอื่น บุคคลควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่พวก
สาวกของนักบวชเหล่าอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นย่อมมีผลมาก ที่ให้แก่คนเหล่าอื่น
หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้นย่อมมีผลมาก ที่ให้แก่
สาวกของนักบวชเหล่าอื่นหามีผลมากไม่’ แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคทรงชักชวน
ให้ข้าพระองค์ให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์ ก็แล ข้าพระองค์จักทราบกาลอันสมควรใน
การให้ทานนี้ต่อไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ 3 ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

อุบาลีคหบดีบรรลุธรรม

[69] หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา1 แก่อุบาลีคหบดี คือ
ทรงประกาศทานกถา2(เรื่องทาน) สีลกถา3(เรื่องศีล) สัคคกถา4(เรื่องสวรรค์) กามา-
ทีนวกถา5(เรื่องโทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)และเนกขัมมานิสังสกถา6
(เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) เมื่อใด พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุบาลีคหบดี
มีจิตควรบรรลุธรรม มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น
จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า(พระองค์ก่อนๆ) ทั้งหลาย ทรงยกขึ้น
แสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผ้าขาวสะอาดปราศจากสิ่ง
ปนเปื้อน จะพึงรับน้ำย้อมต่าง ๆ ได้อย่างดี แม้ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี
ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคหบดี ขณะที่นั่งอยู่นั่นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน