เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

“ในมโนทัณฑะ ท่านผู้เจริญ”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า
จะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง 2 จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย”
[64] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดม
สมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น มิใช่หรือ”
“ใช่ ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก
มีพลเมืองหนาแน่น”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ชายคนหนึ่งในบ้านนาลันทานี้
เงื้อดาบขึ้นพร้อมกับพูดว่า ‘เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลาน
เนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว’ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร เขาจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว ได้หรือไม่”
“ท่านผู้เจริญ ต่อให้ชาย 10 คน 20 คน 30 คน 40 คน 50 คน
ก็ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็น
กองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียวได้ ชายผู้ต่ำทรามคนเดียวจะเก่งกาจอะไร
ปานนั้น”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความ
เชี่ยวชาญทางจิตมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้าด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว’ คหบดี ท่านเข้าใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :61 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

ความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความเชี่ยวชาญทางจิตนั้น
จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว ได้หรือไม่”
“ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทา 10 หลัง 20 หลัง 30 หลัง 40 หลัง 50 หลัง
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความเชี่ยวชาญทางจิตนั้น ยังสามารถทำให้เป็น
เถ้าได้ด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว แล้วบ้านนาลันทาที่ทรุดโทรมหลังเดียวจะ
คณนาอะไรเล่า”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง 2 จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย”
[65] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ
ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ ได้กลายเป็นป่าทึบ ท่านได้ฟังมาแล้วมิใช่หรือ”
“ใช่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
ป่ามาตังคะ ได้กลายเป็นป่าทึบเพราะใคร”
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
ป่ามาตังคะได้กลายเป็นป่าทึบเพราะจิตคิดประทุษร้ายของพวกฤาษี”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง 2 จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :62 }