เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหา

[62] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
นิครนถ์ในโลกนี้ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ถูกห้ามใช้น้ำเย็น ใช้แต่น้ำร้อน เมื่อเขา
ไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติว่านิครนถ์ผู้นี้จะไปเกิด ณ ที่ไหน”
อุบาลีคหบดีทูลตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เหล่าเทพที่ชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ เขาย่อม
เกิดในหมู่เทพนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาเป็นผู้มีใจผูกพันตายไป”
“คหบดี ท่านจงใส่ใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับ
คำหลัง ของท่านจึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง 2 จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือ
มโนทัณฑะเลย”
[63] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในโลกนี้นิครนถ์ นาฏบุตร
พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวร 4 อย่าง คือ
1. เว้นน้ำดิบทุกอย่าง
2. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง
3. ล้างบาปทุกอย่าง
4. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป
แต่ขณะเธอก้าวไป ถอยกลับ ย่อมทำให้สัตว์เล็ก ๆ ตายไปเป็นอันมาก
คหบดี นิครนถ์ นาฏบุตรจะบัญญัติว่า นิครนถ์ผู้นี้มีวิบากอย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรมที่ไม่จงใจว่ามีโทษมาก”
“ถ้าเป็นกรรมที่จงใจเล่า คหบดี”
“ก็เป็นกรรมมีโทษมาก ท่านผู้เจริญ”
“นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติความจงใจไว้ในส่วนไหนเล่า คหบดี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :60 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

“ในมโนทัณฑะ ท่านผู้เจริญ”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า
จะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง 2 จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย”
[64] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดม
สมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น มิใช่หรือ”
“ใช่ ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก
มีพลเมืองหนาแน่น”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ชายคนหนึ่งในบ้านนาลันทานี้
เงื้อดาบขึ้นพร้อมกับพูดว่า ‘เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลาน
เนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว’ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร เขาจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว ได้หรือไม่”
“ท่านผู้เจริญ ต่อให้ชาย 10 คน 20 คน 30 คน 40 คน 50 คน
ก็ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็น
กองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียวได้ ชายผู้ต่ำทรามคนเดียวจะเก่งกาจอะไร
ปานนั้น”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความ
เชี่ยวชาญทางจิตมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้าด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว’ คหบดี ท่านเข้าใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :61 }