เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 9. สุภสูตร

[461] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาช-
มาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ
ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

วาเสฏฐสูตรที่ 8 จบ

9. สุภสูตร
ว่าด้วยมาณพชื่อสุภะ

[462] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล มาณพชื่อสุภะผู้เป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์
อาศัยอยู่ในนิเวศน์ของคหบดีผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น
สุภมาณพผู้เป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ได้กล่าวกับคหบดีผู้ที่ตนอาศัยอยู่ในนิเวศน์ว่า
“ท่านคหบดี ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า ‘กรุงสาวัตถีไม่ว่างจากพระ-
อรหันต์เลย’ วันนี้ เราควรเข้าไปนั่งใกล้สมณะหรือพราหมณ์คนใดดีหนอ”
คหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท่านจงเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สุภมาณพผู้เป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์รับคำแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึก
ถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :583 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 9. สุภสูตร

“ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า ‘คฤหัสถ์เป็นผู้ยัง
กุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ให้สำเร็จ บรรพชิตไม่ยังกุศลธรรมนั้นให้สำเร็จ ในเรื่องนี้
ท่านพระโคดมจะตรัสว่าอย่างไร”
[463] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ ในเรื่องนี้เราแยกกล่าว มิได้
รวมกล่าว เราไม่สรรเสริญการปฏิบัติผิดของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต จริงอยู่ คฤหัสถ์
หรือบรรพชิตผู้ปฏิบัติผิด ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยังกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ให้สำเร็จ
เพราะเหตุแห่งอธิกรณ์คือการปฏิบัติผิด
มาณพ เรากล่าวสรรเสริญการปฏิบัติชอบของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต จริงอยู่
คฤหัสถ์หรือบรรพชิตผู้ปฏิบัติชอบ ชื่อว่าเป็นผู้ยังกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์
ให้สำเร็จ เพราะเหตุแห่งอธิกรณ์คือการปฏิบัติชอบ”

ฐานะการงานของคฤหัสถ์และบรรพชิต

สุภมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า
‘ฐานะแห่งการงานของฆราวาสมีความต้องการมาก มีกิจมาก มีเรื่องมาก มีความ
เพียรมาก มีผลมาก (ส่วน)ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชิตมีความต้องการน้อย
มีกิจน้อย มีเรื่องน้อย มีความเพียรน้อย และมีผลน้อย ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมจะ
ตรัสว่าอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มาณพ แม้ในเรื่องนี้ เราก็แยกกล่าว มิได้
รวมกล่าว ฐานะแห่งการงานที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีเรื่องมาก มีความ
เพียรมาก เมื่อวิบัติย่อมมีผลน้อย ฐานะแห่งการงานที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก
มีเรื่องมาก มีความเพียรมาก เมื่อถึงพร้อมย่อมมีผลมาก ฐานะแห่งการงานที่มีความ
ต้องการน้อย มีกิจน้อย มีเรื่องน้อย มีความเพียรน้อย เมื่อวิบัติย่อมมีผลน้อย ฐานะ
แห่งการงานที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีเรื่องน้อย มีความเพียรน้อย เมื่อถึง
พร้อมย่อมมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :584 }