เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 8. วาเสฏฐสูตร

เราเรียกบุคคลผู้ที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์
ผู้ไม่สามารถหยั่งรู้ถึงคติได้ สิ้นอาสวะแล้ว
เป็นพระอรหันต์ว่า เป็นพราหมณ์
เราเรียกบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน หมดความกังวล
ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นพราหมณ์
เราเรียกบุคคลผู้องอาจ ประเสริฐ
มีความเพียร แสวงหาคุณธรรมอันยิ่งใหญ่
ชนะมารได้แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องทำให้หวั่นไหว
ชำระล้างกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งอริยสัจว่า เป็นพราหมณ์
เราเรียกบุคคลผู้ระลึกถึงอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และนรก
ถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้วว่า เป็นพราหมณ์
[460] อันที่จริง นามและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น
เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก
นามและโคตรปรากฏอยู่ได้ เพราะรู้ตามกันมา
ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้น ๆ
นามและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้
เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานาน
ของพวกคนผู้ไม่รู้ความจริง
เมื่อไม่รู้จึงกล่าวบุคคลว่า เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด
บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติตระกูลก็หาไม่
หรือไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติตระกูลก็หาไม่
บุคคลเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม
หรือไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :581 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 8. วาเสฏฐสูตร

บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม
เป็นช่างศิลปะก็เพราะกรรม
เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม
เป็นผู้รับใช้ก็เพราะกรรม
บุคคลแม้เป็นโจรก็เพราะกรรม
เป็นทหารอาชีพก็เพราะกรรม
เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม
แม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น
บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท
มีความรู้ความเข้าใจในกรรมและผลของกรรม
ย่อมพิจารณาเห็นกรรม ตามความเป็นจริงอย่างนี้
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนรถมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้แล่นไปอยู่
บุคคลเป็นพราหมณ์ได้ เพราะกรรมนี้
คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ1
นี้ เป็นคุณธรรมสูงสุดของพราหมณ์
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
‘บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา 3 สงบ สิ้นภพใหม่แล้ว
เป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่”