เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

[57] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีจึงได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พระองค์ทรงบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่วไว้เท่าไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตปัสสี ตถาคตมิได้บัญญัติเป็นอาจิณว่า
‘ทัณฑะ ทัณฑะ’ แต่บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘กรรม กรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ทรงบัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ
กรรมชั่วไว้เท่าไร”
“ตปัสสี เราบัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้ 3 ประการ
คือ (1) กายกรรม (2) วจีกรรม (3) มโนกรรม1”
“ท่านพระโคดม กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง
เท่านั้นหรือ”
“ตปัสสี กายกรรมก็อย่างหนึ่ง วจีกรรมก็อย่างหนึ่ง มโนกรรมก็อย่างหนึ่ง
เท่านั้น”
“ท่านพระโคดม บรรดากรรมทั้ง 3 ประการนี้ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ คือ
(1) กายกรรม (2) วจีกรรม (3) มโนกรรม พระองค์ทรงบัญญัติกรรมไหนว่ามี
โทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว”
“ตปัสสี บรรดากรรมทั้ง 3 ประการที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ เราบัญญัติ
มโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว มิใช่กายกรรม
หรือวจีกรรม”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในพระดำรัสนี้ถึง 3 ครั้ง
ด้วยประการอย่างนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่

อุบาลีอาสาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า

[58] สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรนั่งอยู่กับบริษัทคฤหัสถ์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านพาลกะ มีคหบดีชื่ออุบาลีเป็นหัวหน้า ได้เห็นนิครนถ์ชื่อทีฆ-
ตปัสสีเดินมาแต่ไกล จึงทักทายว่า “ตปัสสี เชิญทางนี้ ท่านมาจากไหนแต่วันเชียว”
ทีฆตปัสสีตอบว่า “ผมมาจากสำนักของพระสมณโคดมนี้เอง ขอรับ”
“ท่านได้สนทนาปราศรัยกับพระสมณโคดมบ้างหรือไม่”
“ก็ได้สนทนาปราศรัยบ้าง ขอรับ”
“สนทนาปราศรัยกันถึงเรื่องอะไรเล่า”
จากนั้น นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้เล่าเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ให้นิครนถ์ นาฏบุตรฟังทั้งหมด เมื่อนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีเล่าจบ นิครนถ์ นาฏบุตร
จึงกล่าวว่า
“ดีละ ดีละ ตปัสสี การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรง
ตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะ
อันต่ำทรามจะดีงามได้อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการ
ทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ
หรือมโนทัณฑะเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :56 }