เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 6. เอสุการีสูตร

ข้าแต่ท่านพระโคดม เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า ‘พวกสมณะโล้นเหล่านี้
เป็นสามัญชน เกิดจากพระบาทของพระพรหมเป็นกัณหชาติ1(วรรณะศูทร) เป็นใครกัน
และจะรู้ทั่วถึงธรรมได้อย่างไร ท่านพระโคดมได้ทรงทำให้ข้าพระองค์เกิดความรัก
สมณะในหมู่สมณะ ให้เกิดความเลื่อมใสสมณะในหมู่สมณะ และให้เกิดความเคารพ
สมณะในหมู่สมณะแล้วหนอ’ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

จังกีสูตรที่ 5 จบ

6. เอสุการีสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อเอสุการี

[436] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อเอสุการีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้นั่ง ณ
ที่สมควร

การบำเรอ 4 ประเภท

เอสุการีพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์
ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภท คือ

1. บัญญัติการบำเรอพราหมณ์ 2. บัญญัติการบำเรอกษัตริย์
3. บัญญัติการบำเรอแพศย์ 4. บัญญัติการบำเรอศูทร


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 6. เอสุการีสูตร

ในการบำเรอทั้ง 4 ประเภทนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์
ไว้ว่า ‘พราหมณ์ควรบำเรอพราหมณ์ กษัตริย์ควรบำเรอพราหมณ์ แพศย์ควรบำเรอ
พราหมณ์ หรือศูทรควรบำเรอพราหมณ์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์
ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอกษัตริย์ไว้ว่า ‘กษัตริย์ควรบำเรอกษัตริย์
แพศย์ควรบำเรอกษัตริย์ หรือศูทรควรบำเรอกษัตริย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ
การบำเรอกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้ว่า ‘แพศย์ควรบำเรอแพศย์
หรือศูทรควรบำเรอแพศย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้ว่า ‘ศูทรเท่านั้นควรบำเรอศูทร
ผู้อื่นใครเล่าจักบำเรอศูทร’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้เช่นนี้แล
ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภทนี้ ท่าน
พระโคดมตรัสการบำเรอนี้ไว้อย่างไร”
[437] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ชาวโลกทั้งปวงเห็นด้วยกับ
คำของพราหมณ์ที่ว่า ‘พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภทเท่านี้หรือ”
เอสุการีพราหมณ์ ทูลตอบว่า “ไม่ใช่ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุรุษผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็น
ของตน ยากจน ชนทั้งหลายแขวนก้อนเนื้อที่อาบยาพิษไว้สำหรับเขาซึ่งไม่ชอบพอกัน
โดยแกล้งพูดว่า ‘พ่อคุณ เชิญท่านกินเนื้อนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพิ่มขึ้น’ แม้ฉันใด
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภทแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ฝ่ายเดียว โดยไม่มีฝ่ายอื่นยินยอม ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวง
ควรบำเรอ’ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรบำเรอ’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอ
สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย เราจึงไม่
กล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’ แต่เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดเพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้น
พึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย เราจึงกล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :548 }