เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 5. จังกีสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงห้ามกาปทิกมาณพว่า “ภารทวาชะผู้มีอายุ
เจ้าอย่าพูดแทรกขึ้นในระหว่างที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังสนทนากันอยู่
จงรอให้เขาพูดจบเสียก่อน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ท่านพระโคดม อย่าทรงห้ามกาปทิกมาณพเลย กาปทิกมาณพเป็นบุตรของผู้มี
สกุล เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต เจราจาถ้อยคำไพเราะ และสามารถจะเจรจาโต้ตอบ
ในคำนั้นกับท่านพระโคดมได้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “กาปทิกมาณพจักสำเร็จการศึกษา
ในปาพจน์คือไตรเพทเป็นแน่แท้ พราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันยกย่องเขาถึงเพียงนั้น”
ครั้งนั้น กาปทิกมาณพได้คิดว่า “เมื่อใด พระสมณโคดมจักทอดพระเนตรสบ
ตาเรา เมื่อนั้น เราจักทูลถามปัญหากับพระสมณโคดม”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของกาปทิกมาณพด้วยจิต
(ของพระองค์) จึงทรงทอดพระเนตรไปทางที่กาปทิกมาณพนั่งอยู่
[427] ครั้งนั้นแล กาปทิกมาณพได้คิดว่า “พระสมณโคดมทรงสนพระทัย
เราอยู่ ทางที่ดี เราควรทูลถามปัญหากับพระสมณโคดม” ลำดับนั้น กาปทิกมาณพ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ในบทมนตร์อันเป็นของเก่าของพราหมณ์ทั้งหลาย
โดยสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมถึงความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ในเรื่องนี้ท่านพระโคดมจะตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภารทวาชะ บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย พราหมณ์
สักคนหนึ่งผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
มีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :536 }