เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 4. โฆฏมุขสูตร

“พราหมณ์ เพราะเหตุไรเล่า ท่านจึงไม่ชอบใจบุคคล 3 ประเภทนี้”
“ท่านอุเทน บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
ชื่อว่าทำตนซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึง
ไม่ชอบใจบุคคลนี้
ฝ่ายบุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
ชื่อว่าทำผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึง
ไม่ชอบใจบุคคลนี้
ส่วนบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น
ผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่าทำตนเองและ
ผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจบุคคลนี้
แต่บุคคลใด ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
บุคคลนั้น ชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน ชื่อว่าไม่ทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุข
เกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงชอบใจบุคคลนี้”

บริษัท 2 จำพวก

[414] ท่านพระอุเทนกล่าวว่า “พราหมณ์ บริษัทมี 2 จำพวก
บริษัท 2 จำพวก ไหนบ้าง
คือ บริษัทบางพวกในโลกนี้
1. มีความกำหนัดยินดีเมื่อมีต่างหูแก้วมณี จึงแสวงหาบุตร ภรรยา
ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทองและเงิน
2. ไม่มีความกำหนัดยินดีเมื่อมีต่างหูแก้วมณี ก็ละทิ้งบุตร ภรรยา
ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทองและเงิน แล้วออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :518 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 4. โฆฏมุขสูตร

บุคคลใดไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และ
เป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้น
ชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน
พราหมณ์ ท่านเห็นบุคคลเช่นไรในบริษัทไหนมาก คือในบริษัทผู้กำหนัดยินดี
ในแก้วมณีและกุณฑล แสวงหาบุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทอง
และเงิน และในบริษัทผู้ไม่กำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี ละทิ้งบุตร ภรรยา ทาสหญิง
ทาสชาย นา สวน ทอง และเงิน แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านอุเทน บุคคลใดไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่น
ประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบ
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
นั้น เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเห็นบุคคลนี้มีมากในบริษัทผู้ไม่กำหนัดยินดีในเมื่อมีต่างหูแก้วมณี
ละทิ้งบุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทอง และเงิน แล้วออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต”
“พราหมณ์ ในบัดนี้นั่นเอง เราย่อมรู้คำที่ท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ‘สมณะ
ผู้เจริญ การบวชที่ถูกต้องไม่มี ในการบวชนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะในการ
บวชนี้บัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านก็ยังไม่เห็นธรรม”
“ท่านอุเทน วาจาที่ท่านกล่าวแก่ข้าพเจ้านั้น เป็นวาจามีเหตุสนับสนุนโดยแท้
การบวชที่ถูกต้องมีจริง ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ และขอท่านอุเทน
โปรดจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ อนึ่งบุคคล 4 จำพวกนี้ ท่านอุเทนกล่าวโดยย่อ ไม่จำแนก
โดยพิสดาร ขอโอกาสเถิดท่าน ขอท่านอุเทนช่วยอนุเคราะห์จำแนกบุคคล 4 จำพวกนี้
ให้ข้าพเจ้าฟังโดยพิสดารด้วยเถิด”
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
โฆฏมุขพราหมณ์รับคำแล้ว ท่านพระอุเทนได้กล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :519 }