เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 4. โฆฏมุขสูตร

‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘เอาเถิด สัตว์ที่เกิดในครรภ์พึงเป็นกษัตริย์
เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ หรือเป็นศูทร’
‘ข้าพเจ้าทั้งหลาย ไม่รู้เลย ท่านผู้เจริญ’
อสิตเทวลฤาษีถามว่า ‘เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘ท่าน
ทั้งหลายเป็นพวกไหน’
พราหมณ์ฤาษีทั้ง 7 ตนตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้า
ทั้งหลายไม่รู้เลยว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพวกไหน’
อัสสลายนะ พราหมณ์ฤาษี 7 ตนนั้น ถูกอสิตเทวลฤาษีซักไซร้ ไล่เลียง ไต่ถาม
ในวาทะปรารภชาติกำเนิดของตนก็ตอบไม่ได้ บัดนี้ ท่านถูกเราซักไซร้ ไล่เลียง ไต่ถาม
ในวาทะปรารภชาติกำเนิดของตน จะตอบได้อย่างไร ท่านเป็นศิษย์มีอาจารย์แต่ยังรู้
ไม่หมด เป็นแต่ถือทัพพีเท่านั้น”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่าน
พระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต” ดังนี้แล

อัสสลายนสูตรที่ 3 จบ

4. โฆฏมุขสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโฆฏมุขะ

[412] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุเทนอยู่ ณ เขมิยอัมพวัน เขตกรุงพาราณสี สมัยนั้น
พราหมณ์ชื่อโฆฏมุขะได้ไปกรุงพาราณสี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้นแล โฆฏมุข-
พราหมณ์ เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปยังเขมิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่านพระอุเทนเดิน
จงกรมอยู่ในที่กลางแจ้ง โฆฏมุขพราหมณ์เข้าไปหาท่านพระอุเทนถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว เดินจงกรมตามท่านพระอุเทน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :515 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 4. โฆฏมุขสูตร

ผู้กำลังเดินจงกรมอยู่ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า “สมณะผู้เจริญ การบวชที่ถูกต้องไม่มี
ในการบวชนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะในการบวชนี้บัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านก็ยัง
ไม่เห็นธรรม”
เมื่อโฆฏมุขพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุเทนจึงลงจากที่จงกรม
เข้าไปยังวิหารแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้โฆฏมุขพราหมณ์ก็ลงจากที่จงกรม
เข้าไปยังวิหารแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระอุเทนได้กล่าวกับโฆฏมุขพราหมณ์
ว่า “พราหมณ์ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็เชิญนั่งเถิด”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารอการเชื้อเชิญของท่านอุเทนอยู่จึงยัง
ไม่นั่ง เพราะคนเช่นข้าพเจ้าไม่มีใครเชื้อเชิญก่อนแล้ว จะพึงสำคัญการนั่งบนอาสนะ
ที่ควรนั่งก็ดูกระไรอยู่”
ลำดับนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์เลือกนั่งแล้ว ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
แล้วได้กล่าวกับท่านพระอุเทนว่า “สมณะผู้เจริญ การบวชที่ถูกต้องไม่มี ในการบวชนี้
ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะในการบวชนี้บัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านก็ยังไม่เห็นธรรม”
ท่านพระอุเทนกล่าวว่า “พราหมณ์ ถ้าท่านจะพึงยอมรับคำที่ควรยอมรับ
และพึงคัดค้านคำที่ควรคัดค้านของเรา อนึ่ง ท่านยังไม่เข้าใจเนื้อความแห่งภาษิตใด
ก็ควรซักถามเราในภาษิตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านอุเทน ภาษิตนี้เป็นอย่างไร
เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร’ เพราะทำอย่างนี้ เราทั้งสองจะพึงมีการสนทนา
ปราศรัยกันในเรื่องนี้ได้”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจักยอมรับคำที่ควรยอมรับ และจักคัดค้าน
คำที่ควรคัดค้านของท่านอุเทน อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่รู้เนื้อความแห่งภาษิตใดของท่าน
อุเทน ข้าพเจ้าจักซักถามท่านอุเทนในภาษิตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านอุเทน ภาษิตนี้
เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร’ เพราะทำอย่างนี้ เราทั้งสองจง
สนทนาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :516 }