เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 1. พรหมายุสูตร

เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระวรกาย ไม่ทรงย่อพระวรกาย ไม่ทรง
ห่อพระวรกาย ไม่ทรงส่ายพระวรกาย เสด็จเข้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ไม่ไกลนัก
ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งท้าวพระหัตถ์บนพุทธอาสน์ ไม่ทรงพิงพระวรกายที่พุทธอาสน์
เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท
ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งเอาฝ่าพระหัตถ์
ยันพระหนุ(เท้าคาง) เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว
ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน ทรงพอพระทัยในวิเวก1
เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรง
ยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนักไม่มากนัก
ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงล้างบาตรด้วยวิธีหมุน ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น
ทรงล้างบนพระหัตถ์
เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ก็เป็นอันทรงล้างบาตร เมื่อทรงล้างบาตรก็เป็นอันทรง
ล้างพระหัตถ์ ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ให้
น้ำกระเซ็น
เมื่อทรงรับข้าวสุกก็ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่น
บาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนักไม่มากนัก ทรงรับ
กับข้าว เสวยพระกระยาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงทำกับข้าวให้เกินกว่าคำข้าว
ทรงเคี้ยวคำข้าวข้างในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน ข้าวยังไม่ละเอียด ไม่ทรง
กลืนลงไป ไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์ จึงน้อมคำข้าวอีกคำหนึ่งเข้าไป ทรงมีปกติ
กำหนดรสอาหารแล้วเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงติดในรส

ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ
1. ไม่เสวยเพื่อเล่น
2. ไม่เสวยเพื่อมัวเมา
3. ไม่เสวยเพื่อประดับ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 1. พรหมายุสูตร

4. ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง
5. เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้
6. เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้
7. เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก
8. เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยทรงพระดำริว่า ‘เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ร่างกายของเราจักดำเนินไปสะดวก ไม่มีโทษ และอยู่สำราญ’ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตรไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรง
ลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตร
ไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงล้างบาตรด้วยวิธีหมุน
ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ก็เป็นอันทรงล้าง
บาตร เมื่อทรงล้างบาตรก็เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์ ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก
ไม่ใกล้นัก ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ให้น้ำกระเซ็น เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรง
วางบาตรที่พื้น ทรงวางไว้ในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้
จะตามรักษาบาตรตลอดก็หามิได้ เสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่
ทรงปล่อยเวลาอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียน
ภัตรนั้น ไม่ทรงมุ่งหวังภัตรอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
พระองค์เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เสด็จไป ก็ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่เสด็จช้านัก
ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติด
พระวรกายเกินไป และไม่ทรงจีวรหลุดลุ่ยจากพระวรกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้
ทั้งฝุ่นละอองไม่ติดพระวรกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงใส่พระทัยเพื่อประดับตกแต่งพระบาทอยู่ ทรงล้างพระบาท
แล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระวรกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริ
เพื่อเบียดเบียนพระองค์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :480 }