เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

ต้องการผลไม้ถือขวานที่คมกริบเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขามาถึงราวป่านั้น เห็น
ต้นไม้มีผลดกดาษดื่น เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘ต้นไม้นี้มีผลดกดาษดื่น แต่ไม่มีผลหล่น
ลงมาสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้วิธีปีนขึ้นต้นไม้ ทางที่ดี เราควรจะตัดต้นไม้นี้ที่โคนต้น
แล้วกินพออิ่มและใส่พกให้เต็ม’ เขาจึงตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้น ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ชายคนแรกโน้นที่ปีนขึ้นต้นไม้ก่อน ถ้าไม่รีบลงมา ต้นไม้ก็ล้มทับมือเท้า
หรืออวัยวะน้อยใหญ่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเขาหักได้ เขาอาจถึงตายหรือได้รับทุกข์
ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นเป็นเหตุใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์
ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตาม
ความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน
ที่อิงอาศัยอารมณ์ต่างกันแล้ว เจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว
ซึ่งเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง

วิชชา 3

[49] คหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง
ฯลฯ1 เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้
เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดี ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
คหบดี เพียงเท่านี้แล ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการ
ทั้งปวงในอริยวินัย

โปตลิยคหบดีประกาศตนเป็นอุบาสก

[50] คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นการตัดขาด
โวหารเห็นปานนี้ในตน เหมือนการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวง
ในอริยวินัย กระนั้นหรือ”
โปตลิยคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พิจารณาเห็นเช่นนั้น
กระไรได้ ซ้ำข้าพระองค์ยังกลับเป็นผู้ไกลจากการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วน โดย
ประการทั้งปวงในอริยวินัยเสียอีก เพราะเมื่อก่อนข้าพระองค์เข้าใจผิดพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้รู้ทั่วถึง’ ได้คบหาพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง
ว่า ‘คบหาบุคคลผู้รู้ทั่วถึง’ ได้ยกย่องพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะ
แห่งบุคคลผู้รู้ทั่วถึง แต่กลับเข้าใจภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ ได้คบหา
ภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่า ‘คบหาบุคคลผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ ได้ตั้งภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ใน
ฐานะแห่งบุคคลผู้ไม่รู้ทั่วถึง แต่บัดนี้ ข้าพระองค์รู้จักพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้
ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ คบหาพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงว่า ‘คบหา
บุคคลผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ ตั้งพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งบุคคลผู้
ไม่รู้ทั่วถึง แต่รู้จักภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้รู้ทั่วถึง’ คบหาภิกษุทั้งหลายผู้รู้
ทั่วถึงว่า ‘คบหาบุคคลผู้รู้ทั่วถึง’ ตั้งภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งบุคคลผู้รู้
ทั่วถึง พระผู้มีพระภาคทรงทำความรักสมณะให้เกิดในหมู่สมณะ ทรงทำความเลื่อมใส
สมณะให้เกิดในหมู่สมณะ ทรงทำความเคารพสมณะให้เกิดในหมู่สมณะ แก่ข้าพระองค์
แล้วหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :47 }