เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตามความ
เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ฯลฯ เจริญอุเบกขา...
[46] คหบดี คนฝันเห็นสวน ป่า สถานที่ สระโบกขรณี ที่น่ารื่นรมย์
เขาตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นอะไรเลย แม้ฉันใด อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์
ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยความฝัน มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง ฯลฯ เจริญอุเบกขา...
[47] คหบดี เปรียบเหมือนคนยืมทรัพย์สมบัติคือแก้วมณีและกุณฑลอย่างดี
(ของบุคคลอื่น) นั่งยานพาหนะไป เขาสวมใส่ทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมาไว้รอบตัว
เดินไประหว่างร้านค้าในตลาด ประชาชนเห็นเขาแล้วก็ซุบซิบกันอย่างนี้ว่า ‘คนนี้
รวยจริง พวกคนรวยเขาใช้สอยสมบัติกันอย่างนี้เอง’ พวกเจ้าของพบเขา ณ ที่ใด
ที่หนึ่งเข้า ก็จะพึงนำเอาของของตนคืนไปในที่นั้น ๆ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
สมควรไหมกับการที่คนผู้นั้นไม่แสดงอาการหวงแหนในทรัพย์สมบัติ”
“สมควร พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะเจ้าของ(มีสิทธิ์) จะนำของของตนคืนไป พระพุทธเจ้าข้า”
“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยของขอยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ฯลฯ เจริญอุเบกขา...
[48] คหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ไม่ไกลจากหมู่บ้านหรือนิคม ต้นไม้
ในราวป่านั้นมีผลดกดาษดื่น แต่ยังไม่หล่นลงมาเลยสักผลเดียว ชายคนหนึ่งผู้
ต้องการผลไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขามาถึงราวป่านั้น เห็นต้นไม้ที่มีผลดก
ดาษดื่นนั้น เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘ต้นไม้นี้มีผลดกดาษดื่น แต่ไม่มีผลหล่นลงมาสัก
ผลเดียว แต่เรารู้วิธีปีนขึ้นต้นไม้ ทางที่ดี เราควรปีนขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และ
ใส่พกให้เต็ม’ เขาจึงปีนขึ้นต้นไม้นั้นแล้วกินพออิ่มและใส่พกให้เต็ม ต่อมา ชายคนที่ 2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :45 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

ต้องการผลไม้ถือขวานที่คมกริบเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขามาถึงราวป่านั้น เห็น
ต้นไม้มีผลดกดาษดื่น เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘ต้นไม้นี้มีผลดกดาษดื่น แต่ไม่มีผลหล่น
ลงมาสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้วิธีปีนขึ้นต้นไม้ ทางที่ดี เราควรจะตัดต้นไม้นี้ที่โคนต้น
แล้วกินพออิ่มและใส่พกให้เต็ม’ เขาจึงตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้น ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ชายคนแรกโน้นที่ปีนขึ้นต้นไม้ก่อน ถ้าไม่รีบลงมา ต้นไม้ก็ล้มทับมือเท้า
หรืออวัยวะน้อยใหญ่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเขาหักได้ เขาอาจถึงตายหรือได้รับทุกข์
ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นเป็นเหตุใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์
ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตาม
ความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน
ที่อิงอาศัยอารมณ์ต่างกันแล้ว เจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว
ซึ่งเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง

วิชชา 3

[49] คหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง
ฯลฯ1 เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้
เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดี ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล