เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

โทษแห่งกาม 7 ประการ

[42] “คหบดี เปรียบเหมือนสุนัขที่กำลังหิวโซ ยืนอยู่ใกล้เขียงของคนฆ่าโค
คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ โยนโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออก
หมดแล้ว แต่มีเลือดติดอยู่บ้างไปให้มัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สุนัขตัวนั้น
เมื่อแทะโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออกหมดแล้ว แต่มีเลือดติดอยู่บ้างนั้น
จะบรรเทาความหิวได้บ้างไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออกหมดแล้วนั้น แม้จะมีเลือดติด
อยู่บ้าง สุนัขนั้นก็จะพึงมีความเหน็ดเหนื่อยและความหิวมากขึ้นอีก พระพุทธเจ้าข้า”
“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้น
มาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน ที่อิงอาศัยอารมณ์
ต่างกัน แล้วเจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว1 ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นที่ดับไม่
เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง
[43] คหบดี เปรียบเหมือนนกแร้ง นกตะกรุม หรือนกเหยี่ยว คาบชิ้นเนื้อ
บินไป ฝูงนกแร้งก็ดี ฝูงนกตะกรุมก็ดี ฝูงนกเหยี่ยวก็ดี พากันโผเข้าไปรุมจิกทึ้ง
ชิ้นเนื้อนั้น ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้านกแร้ง นกตะกรุม หรือนกเหยี่ยวนั้น
ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันอาจถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย เพราะชิ้นเนื้อนั้น
เป็นเหตุใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วย
ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน ที่อิงอาศัยอารมณ์
ต่างกัน แล้วเจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นที่ดับ
ไม่เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง
[44] คหบดี เปรียบเหมือนบุรุษถือคบหญ้าที่ไฟติดลุกโชนเดินทวนลมไป
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบหญ้า ที่มีไฟติดลุกโชน
นั้นเสีย คบหญ้าที่มีไฟติดลุกโชนนั้นก็จะพึงไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่
ส่วนใดส่วนหนึ่งของเขา เขาอาจถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้น
เป็นเหตุใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วย
ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ฯลฯ เจริญอุเบกขา...
[45] คหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงมีความลึกกว่า 1 ชั่วบุรุษ เต็ม
ด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งเป็นคนรักชีวิต
ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์มาถึงเข้า มีชาย 2 คนเป็นคนแข็งแรงช่วยกัน
จับแขนเขาข้างละคนฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
คนผู้นั้นจะพึงน้อมกายเข้าไปอย่างนั้น ใช่ไหม”
“ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะบุรุษผู้นั้นรู้ว่า ‘ถ้าเราจักตกลงไปยังหลุมถ่านเพลิงนี้ อาจถึงตายหรือ
ได้รับทุกข์ปางตาย เพราะหลุมถ่านเพลิงนั้นเป็นเหตุ’ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :44 }