เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ
ความโกรธแค้นเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่มีความโกรธแค้น อาสวะและความเร่าร้อน
ที่ทำความโกรธแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละความโกรธแค้นได้
เพราะอาศัยความไม่โกรธแค้น’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
[40] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละความดูหมิ่นได้ เพราะ
อาศัยความไม่ดูหมิ่น’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ดูหมิ่นเพราะ
เหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้นเสีย
อนึ่ง เราเป็นผู้ดูหมิ่น แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะความดูหมิ่นเป็นปัจจัย
ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะความดูหมิ่นเป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติ
เป็นอันหวังได้เพราะความดูหมิ่นเป็นปัจจัย’ ความดูหมิ่นนั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็น
นิวรณ์
อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ
ความดูหมิ่นเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่ดูหมิ่น อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับ
แค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละความดูหมิ่นได้ เพราะอาศัย
ความไม่ดูหมิ่น’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
[41] คหบดี ธรรม 8 ประการที่เป็นไปเพื่อละ เพื่อตัดขาดโวหารในอริยวินัย
เรากล่าวไว้โดยย่อ จำแนกไว้แล้วโดยพิสดาร แต่เพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตัด
ขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงในอริยวินัย”
โปตลิยคหบดีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่างไรเล่า จึงจะชื่อว่า
เป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงในอริยวินัย ขอประทาน
วโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่จะตัดขาด
โวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงในอริยวินัยด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”
โปตลิยคหบดีทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :42 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

โทษแห่งกาม 7 ประการ

[42] “คหบดี เปรียบเหมือนสุนัขที่กำลังหิวโซ ยืนอยู่ใกล้เขียงของคนฆ่าโค
คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ โยนโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออก
หมดแล้ว แต่มีเลือดติดอยู่บ้างไปให้มัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สุนัขตัวนั้น
เมื่อแทะโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออกหมดแล้ว แต่มีเลือดติดอยู่บ้างนั้น
จะบรรเทาความหิวได้บ้างไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออกหมดแล้วนั้น แม้จะมีเลือดติด
อยู่บ้าง สุนัขนั้นก็จะพึงมีความเหน็ดเหนื่อยและความหิวมากขึ้นอีก พระพุทธเจ้าข้า”
“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้น
มาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน ที่อิงอาศัยอารมณ์
ต่างกัน แล้วเจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว1 ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นที่ดับไม่
เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง
[43] คหบดี เปรียบเหมือนนกแร้ง นกตะกรุม หรือนกเหยี่ยว คาบชิ้นเนื้อ
บินไป ฝูงนกแร้งก็ดี ฝูงนกตะกรุมก็ดี ฝูงนกเหยี่ยวก็ดี พากันโผเข้าไปรุมจิกทึ้ง
ชิ้นเนื้อนั้น ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้านกแร้ง นกตะกรุม หรือนกเหยี่ยวนั้น
ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันอาจถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย เพราะชิ้นเนื้อนั้น
เป็นเหตุใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”