เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาล
ก่อนแต่นี้’
ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’
อาตมภาพจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว
จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้ง
ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’
อาตมภาพสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว อาตมภาพกล่าวสอน
ภิกษุ 2 รูป ภิกษุ 3 รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง 6 ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ 3 รูป
นำมา อาตมภาพกล่าวสอนภิกษุ 3 รูป ภิกษุ 2 รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง 6
ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ 2 รูปนำมา1

ทรงแก้ปัญหาของโพธิราชกุมาร

[343] ครั้งนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมภาพสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้
ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตร
ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำนานเพียงไรหนอ
จึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้อาตมภาพขอย้อนถาม
พระองค์ก่อน พระองค์พึงตอบตามที่พอพระทัย พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น
ว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ฉลาดในศิลปะ คือ การทรงช้าง การใช้ขอช้าง มิใช่หรือ”
โพธิราชกุมารทูลว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในศิลปะคือ
การทรงช้าง การใช้ขอช้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่า
อย่างไร บุรุษมาในเมืองนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘โพธิราชกุมารทรงรู้ศิลปะคือการทรงช้าง
การใช้ขอช้าง เราจักศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของโพธิราชกุมารนั้น’
แต่เขาไม่มีศรัทธา จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีศรัทธาจะพึงบรรลุ เขามีสุขภาพ
มีโรคาพาธมาก จึงไม่บรรลุผลเท่ากับคนที่มีสุขภาพมีโรคาพาธน้อยจะพึงบรรลุ
เขาเป็นคนโอ้อวด มีมารยา จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจะพึง
บรรลุ เขาเป็นผู้เกียจคร้าน จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรจะพึง
บรรลุ และเขาเป็นผู้มีปัญญาทรามจึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาจะพึงบรรลุ
ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นควรศึกษา
ศิลปะ คือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของพระองค์บ้างไหม”
โพธิราชกุมารทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์
ประกอบแต่ละอย่าง ก็ไม่ควรศึกษาศิลปะ คือ การขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของ
หม่อมฉัน ไม่จำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อ”
[344] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัย
ความข้อนั้นว่าอย่างไร เปรียบเหมือนบุรุษมาเมืองนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘โพธิราชกุมาร
ทรงรู้ศิลปะคือการทรงช้าง การใช้ขอช้าง เราจักศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้
ขอช้างในสำนักของโพธิราชกุมารนั้น’ เขาเป็นผู้มีศรัทธา จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคล
ผู้มีศรัทธาจะพึงบรรลุ เขามีโรคาพาธน้อย จึงบรรลุผลเท่าที่คนผู้มีโรคาพาธน้อย
จะพึงบรรลุ เขาเป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด
ไม่มีมารยาจะพึงบรรลุ เขาเป็นผู้ปรารภความเพียร จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภ
ความเพียรจะพึงบรรลุ และเขาเป็นผู้มีปัญญาจึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาจะพึง
บรรลุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :416 }