เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

ราชกุมาร อาตมภาพบรรลุวิชชาที่ 3 นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้
ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่

ทรงมีความขวนขวายน้อย

[337] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม1ที่เราได้บรรลุแล้วนี้
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด
บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน
ในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย2 ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย
นี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา(ความที่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นปัจจัย
ของสิ่งนี้) หลักปฏิจจสมุปบาท(การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมี) ถึงแม้ฐานะ
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้ง
อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม
และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึง
เป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’
อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า
‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งที่พาทวนกระแส3 ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้4’
ราชกุมาร เมื่ออาตมภาพพิจารณาดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย
มิได้น้อมไป เพื่อแสดงธรรม