เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

จึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะ
แทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น
การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’ อาตมภาพจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า
‘อย่าเลย’
อาตมภาพมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้น้อยลง ๆ เพียง
ครั้งละ 1 ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วพูบ้าง
เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ อาตมภาพจึงฉันอาหารน้อยลง ๆ
เพียงครั้งละ 1 ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วพูบ้าง
เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่ออาตมภาพฉันอาหารน้อยลง ๆ
เพียงครั้งละ 1 ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วพูบ้าง
เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง กายจึงซูบผอมมาก อวัยวะน้อยใหญ่
ของอาตมภาพจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อสะโพก
ก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครงทั้ง 2 ข้าง
ขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง 2 ก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือน
ดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่เขาตัดมา
ขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น อาตมภาพ
คิดว่า ‘จะลูบพื้นท้อง’ ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จะลูบกระดูกสันหลัง’ ก็จับถึง
พื้นท้อง เพราะพื้นท้องของอาตมภาพแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง อาตมภาพคิดว่า
‘จะถ่ายอุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง
จึงใช้ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย
มนุษย์ทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมดำไป’ บางพวก
ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป’ บางพวกก็กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ไม่ดำ ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป’ เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป
เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น
[335] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นมีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร
ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :404 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

เหล่าหนึ่งในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน เสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน
ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป
แต่เราก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ
มนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อการตรัสรู้บ้างไหม’
อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดี
ซึ่งเป็นพระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้น
พึงเป็นทางแห่งการตรัสรู้หรือหนอ’ อาตมภาพมีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า
‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการตรัสรู้’ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้น
จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ’ อาตมภาพก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้น
จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’
ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมากอย่างนี้
จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก
และขนมกุมมาส’ อาตมภาพก็ฉันอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์เฝ้าบำรุงอาตมภาพ ด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด
จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด อาตมภาพฉันอาหารหยาบ คือข้าวสุก
และขนมกุมมาส เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่าย จากไปด้วยเข้าใจว่า
‘พระสมณโคดมมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’

ฌาน 4 และวิชชา 3

[336] ราชกุมาร อาตมภาพฉันอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :405 }