เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อัน
ยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 3 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยินมาก่อน
ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ
ราชกุมาร นี้คืออุปมา 3 ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้
ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

[332] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟัน
ด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ อาตมภาพนั้น
ก็กดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อ
อาตมภาพทำดังนั้น เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง 2 ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่
อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้
เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง 2 ข้าง
อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ
อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวนกระวาย
ไม่สงบระงับ
[333] ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปาก
และทางจมูก เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและ
ทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง 2 ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ
แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและ
ทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง 2 ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :401 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ
อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน-
กระวาย ไม่สงบระงับ
อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’
อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู
เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง
ช่องหู ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ
แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูก
และทางช่องหู ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน
อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ
อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน-
กระวาย ไม่สงบระงับ
อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’
อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู
เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง
ช่องหู ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียว
ขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปาก
ทางจมูกและทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ
อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน-
กระวาย ไม่สงบระงับ
อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’
อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู
เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง
ช่องหู ลมอันแรงกล้าก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ
ใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :402 }