เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

(อาตมภาพจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าน’
(อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวก
ข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ รามะทราบ
ธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่า
รามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้
ท่านจงบริหารคณะนี้'
ราชกุมาร อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของอาตมภาพ ก็ยัง
ยกย่องอาตมภาพไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างดี ด้วย
ประการอย่างนี้ แต่อาตมภาพคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลาย
กำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียง
เพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ อาตมภาพไม่พอใจ เบื่อหน่าย
ธรรมนั้น จึงลาจากไป

ทรงบำเพ็ญเพียร

[329] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหา
ทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธ
โดยลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า
น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคาม
อยู่โดยรอบ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ อาตมภาพจึงนั่ง
ณ ที่นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :398 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

อุปมา 3 ข้อ

ราชกุมาร ครั้งนั้น อุปมา 3 ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคย
ได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ คือ
1. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟ
ด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มี
ยางซึ่งแช่อยู่ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่
ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเบ็ดเสร็จในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนา
ที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 1 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา
[330] 2. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้น
มาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียาง
ซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :399 }