เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

เมื่ออาตมภาพถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญ-
จัญญายตนสมาบัติแก่อาตมภาพ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส
กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา ... มีวิริยะ ... มีสติ ... มีสมาธิ ...
มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี
เราควรบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็ทำให้
แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่าน
กาลามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’
อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เราประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’
(อาตมภาพจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใด ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบ
ธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้า
ก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’
ราชกุมาร อาฬารดาบส กาลามโคตรทั้งที่เป็นอาจารย์ของอาตมภาพ ก็ยกย่อง
อาตมภาพผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างดี ด้วย
ประการอย่างนี้ แต่อาตมภาพคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อ
คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไป
เพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ อาตภาพไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น
จึงลาจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :396 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

ในสำนักอุทกดาบส

[328] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหา
ทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับอาตมภาพว่า
‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน
อาตมภาพก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น
ก็กล่าวญาณวาทะและเถรวาทะได้ ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้
เราเห็น’ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียง
ความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่
อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร’
เมื่ออาตมภาพถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติแก่อาตมภาพ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตร
เท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา ... มีวิริยะ ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มิใช่แต่
อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญ
เพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้หรือ’
อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้
แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :397 }