เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงเหยียบผ้าขาวเสด็จเข้าไปเถิด
ขอพระสุคตทรงเหยียบผ้าขาวเสด็จเข้าไปเถิด ข้อนี้จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุข แก่หม่อมฉันตลอดกาลนาน พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อโพธิราชกุมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง
แม้ครั้งที่ 2 โพธิราชกุมารก็กราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคทรงเหยียบผ้าขาว
เสด็จเข้าไปเถิด ขอพระสุคตทรงเหยียบผ้าขาวเสด็จเข้าไปเถิด ข้อนี้จะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่หม่อมฉันตลอดกาลนาน พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อโพธิราชกุมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง
แม้ครั้งที่ 3 โพธิราชกุมารก็กราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคทรงเหยียบผ้าขาว
เสด็จเข้าไปเถิด ขอพระสุคตทรงเหยียบผ้าขาวเสด็จเข้าไปเถิด ข้อนี้จะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่หม่อมฉันตลอดกาลนาน พระพุทธเจ้าข้า”
[326] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชำเลืองดูท่านพระอานนท์ จากนั้น
ท่านพระอานนท์ได้ทูลตอบโพธิราชกุมารว่า “พระราชกุมารจงเก็บผ้าขาวเสียเถิด
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยียบผ้าขาว พระตถาคตทรงเห็นแก่ประชุมชนผู้เกิดใน
ภายหลัง”
โพธิราชกุมารรับสั่งให้เก็บผ้าขาวแล้วรับสั่งให้ปูอาสนะที่โกกนุทปราสาทชั้นบน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จขึ้นโกกนุทปราสาท แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้แล้วพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โพธิราชกุมารทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุข ถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีตจนอิ่มหนำด้วยพระองค์เอง ทรงทราบ
ว่าพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงเลือกประทับนั่งอาสนะที่
สมควร ที่ใดที่หนี่งซึ่งต่ำกว่า แล้วได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘บุคคลจะไม่ประสบ
ความสุขด้วยความสุข แต่บุคคลจะประสบความสุขด้วยความทุกข์เท่านั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :394 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส1

[327] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร ก่อนการตรัสรู้ แม้อาตมภาพ
ยังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลจะไม่ประสบความสุข
ด้วยความสุข แต่บุคคลจะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์เท่านั้น’ ในกาลต่อมา
อาตมภาพยังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดา
และพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร
ทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็น
บรรพชิต เมื่อบวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือ
ความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า
‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับอาตมภาพว่า
‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้น
ไม่นาน อาตมภาพก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัย
เท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะ1และเถรวาทะ2ได้ ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้
ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’
ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร ยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่าน
กาลามะ ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’