เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

4. โปตลิยสูตร
ว่าด้วยคหบดีชื่อโปตลิยะ

[31] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคุตตราปะชื่ออาปณะ
แคว้นอังคุตตราปะ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปณนิคม ทรงเที่ยวบิณฑบาตในอาปณนิคมแล้ว
เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงเข้าไปยังราวป่า
แห่งหนึ่งเพื่อพักผ่อนกลางวัน แล้วประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง
แม้โปตลิยคหบดีเองก็เช่นกัน นุ่งห่มเรียบร้อยกางร่มสวมรองเท้า เดินเที่ยวเล่นอยู่
ได้เข้าไปยังราวป่านั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสกับโปตลิยคหบดีว่า “คหบดี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็เชิญนั่งเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเชิญอย่างนี้แล้ว โปตลิยคหบดีโกรธ น้อยใจว่า
“พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า ‘คหบดี’ จึงทำเฉยเสีย
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรียกโปตลิยคหบดีว่า “คหบดี ที่นั่งมีอยู่
ถ้าท่านประสงค์ ก็เชิญนั่งเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเชิญอย่างนี้แล้ว โปตลิยคหบดีโกรธ น้อยใจว่า
“พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า ‘คหบดี’ จึงทำเฉยเสีย
แม้ครั้งที่ 3 พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรียกโปตลิยคหบดีว่า “คหบดี ที่นั่งมีอยู่
ถ้าท่านประสงค์ ก็เชิญนั่งเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเชิญอย่างนี้แล้ว โปตลิยคหบดีโกรธ น้อยใจว่า
“พระสมณโคดม ตรัสเรียกเราด้วยคำว่า ‘คหบดี' แล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ท่านพระโคดม พระดำรัสที่พระองค์ตรัสเรียกข้าพระองค์ด้วยคำว่า ‘คหบดี’ นั้น
ไม่เหมาะ ไม่ควรเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี กิริยาของท่าน ท่าทางของท่าน ลักษณะ
ของท่านเหล่านั้น บ่งว่าเป็นกิริยา ท่าทาง ลักษณะของคหบดีอยู่”
“ใช่แล้ว ท่านพระโคดม แต่ข้าพระองค์ละทิ้งการงานทุกอย่างแล้ว ตัดขาด
โวหารทุกอย่างแล้ว”
“คหบดี ท่านละทิ้งการงานทุกอย่าง ตัดขาดโวหารทุกอย่าง อย่างไรเล่า”
“ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาส ทรัพย์ก็ดี ธัญชาติก็ดี เงินก็ดี ทองก็ดี
ที่มีอยู่ทั้งหมด ข้าพระองค์มอบให้เป็นมรดกแก่บุตรทั้งหลาย ข้าพระองค์ไม่ต้อง
แนะนำ ไม่ต้องตักเตือนพวกเขาในสิ่งนั้น ๆ ข้าพระองค์มีเพียงอาหารและเครื่องนุ่งห่ม
ก็พอแล้ว ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ละทิ้งการงานทุกอย่าง ตัดขาดโวหารทุกอย่าง
อย่างนี้แล”
“คหบดี การตัดขาดโวหารที่ท่านพูดมา เป็นอย่างหนึ่ง แต่การตัดขาดโวหาร
ในอริยวินัย เป็นอีกอย่างหนึ่ง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การตัดขาดโวหารในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า
ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม คือการตัดขาดโวหารใน
อริยวินัย แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
“คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
โปตลิยคหบดีทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :36 }