เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลุทายิสูตร

วิชชา 3

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง
2 ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์
ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ เธอรู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในเรามุ่งจะทำให้แจ้ง
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่ออาสวักขยญาณรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะทำให้แจ้ง
อุทายี ธรรมเหล่านี้แล ดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์
ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :329 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลทายิสูตร

สกุลุทายีปริพาชกขอบวช

[277] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์
เป็นสรณะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคเถิด”
เมื่อสกุลุทายีปริพาชกกราบทูลอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้
กล่าวห้ามสกุลุทายีปริพาชกว่า “ท่านอุทายี ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระสมณโคดมเลย ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย อุปมาเหมือน
เป็นขันน้ำแล้ว จะลดฐานะลงเป็นจอกในขันน้ำ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็จักมีแก่
ท่านอุทายีฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย
ท่านอุทายี ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย”
เรื่องนี้เป็นอันยุติได้ว่า บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้ทำให้สกุลุทายีปริพาชก
มีอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬสกุลุทายิสูตรที่ 9 จบ