เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลุทายิสูตร

ผู้นั้น ผู้นั้นจะทำให้เรายินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต หรือเราจะพึง
ทำจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต
ผู้ใดพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเถิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรม ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับเรา หรือเราควรถามปัญหา
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับผู้นั้น ผู้นั้นทำให้เรายินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์
ส่วนอนาคต หรือเราพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วน
อนาคต
อุทายี จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่
ท่านว่า ‘เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้
จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาตินี้ที่ปรากฏแก่ข้าพระองค์โดยอัตภาพนี้พร้อม
ทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ ข้าพระองค์ยังไม่สามารถจะระลึกได้เลย ไฉนเลยจัก
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกถึง
ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เหมือนพระผู้มี
พระภาคเล่า บัดนี้ แม้แต่ปีศาจเล่นฝุ่น ข้าพระองค์ก็ยังไม่เคยเห็นเลย ไฉนเลย
จักเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จักรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
เหมือนพระผู้มีพระภาคเล่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า
‘อุทายี จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่ท่านว่า
‘เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี
เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ’ จะปรากฏแก่ข้าพระองค์ โดยประมาณยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ก็หาไม่ ไฉนข้าพระองค์จึงจะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงยินดีด้วยการตอบปัญหาใน
ลัทธิอาจารย์ของตนได้เล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :320 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลุทายิสูตร

เรื่องวรรณะ

[272] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุทายี ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมี
ความเห็นว่าอย่างไร”
สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน
ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด”
“ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็น
วรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ
สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะ
นั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้น พึงขยายความได้อย่างยืดยาว แต่ท่าน
ไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคน
นั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่า
มีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม หรือ
เมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็น อย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นจะถือว่า
เลื่อนลอย มิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :321 }