เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
8. สมณมุณฑิกสูตร

ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมาน-
ปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องที่สนทนาปราศรัย
กับอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรให้พระผู้มีพระภาคฟังทั้งหมด
[262] เมื่อช่างไม้ชื่อปัญจกังคะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสว่า
“ช่างไม้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ ก็จักเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม
มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้
แท้จริง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่กายก็ยังไม่รู้จัก1 จักทำกรรมชั่ว
ทางกายได้ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีเพียงอาการนอนดิ้นรน เด็กอ่อนที่ยังนอน
หงายอยู่ แม้แต่วาจาก็ยังไม่รู้จัก2 จักกล่าววาจาชั่วได้ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีเพียงการ
ร้องไห้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่ความดำริก็ยังไม่รู้จัก3 จักดำริชั่วได้แต่
ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีการส่งเสียงร้อง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่การ
เลี้ยงชีพก็ยังไม่รู้จัก4 จักเลี้ยงชีพชั่วได้ที่ไหนเล่า นอกจากการดื่มน้ำนมของมารดา
ช่างไม้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ก็จักเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม
มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้
[263] ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการว่า
มิใช่ผู้มีกุศลเพียบพร้อม มิใช่ผู้มีกุศลยอดเยี่ยม มิใช่สมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควร
บรรลุไม่มีใครสู้วาทะได้ แต่บุรุษบุคคลนี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่บ้าง


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
8. สมณมุณฑิกสูตร

ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ บุรุษบุคคลในโลกนี้
1. ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย 2. ไม่กล่าววาจาชั่ว
3. ไม่ดำริความดำริชั่ว 4. ไม่ประกอบอาชีพชั่ว
เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการนี้แลว่า มิใช่ผู้มีกุศล
เพียบพร้อม มิใช่ผู้มีกุศลยอดเยี่ยม มิใช่สมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี
ใครสู้วาทะได้ แต่บุรุษบุคคลนี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่บ้าง
ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 10 ประการว่า เป็นผู้มี
กุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุไม่มี
ใครสู้วาทะได้

เสขธรรม

เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นอกุศล มีสมุฏฐานมาจากจิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นอกุศลดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง
ศีลที่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นกุศลมีสมุฏฐานมาแต่จิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นกุศลดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง
ศีลที่เป็นกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริที่เป็นอกุศลมีสมุฏฐานมาแต่จิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :310 }