เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
7. มหาสกุลุทายิสูตร

อนึ่ง สาวกของครูนิครนถ์ นาฏบุตรเป็นอันมาก พากันยกโทษว่า ‘ท่านไม่รู้
ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ผมรู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด
แต่ผมปฏิบัติถูก คำพูดของผมมีประโยชน์ แต่คำพูดของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควร
พูดก่อนท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง ท่านกลับพูดก่อน เรื่องที่ท่าน
เคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ผมจับผิดคำพูดของท่านได้แล้ว ผมข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่าน
มีความสามารถก็จงหาทางแก้ไขคำพูดหรือเปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด’ แล้วพากัน
หลีกไป พวกสาวกไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาครูนิครนถ์ นาฏบุตร
ด้วยอาการอย่างนี้ และสาวกทั้งหลาย ไม่สักการะ เคารพแล้ว ก็ไม่อาศัยครูนิครนถ์
นาฏบุตรอยู่ ครูนิครนถ์ นาฏบุตรก็ไม่โกรธ เพราะเป็นการตำหนิที่ชอบธรรม’

ความเคารพในพระพุทธเจ้า

[240] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมพระองค์นี้
ทรงเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ทรงเป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ
คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
พระองค์ นอกจากสักการะ เคารพแล้วก็ยังอาศัยพระองค์อยู่
เรื่องเคยมีมาแล้ว พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น
สาวกของพระสมณโคดมรูปหนึ่งไอขึ้น เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่งใช้เข่าสะกิดเตือน
ให้รู้ว่า ‘ท่านจงเงียบเสียง อย่าส่งเสียงดังไป พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของเรา
ทั้งหลายกำลังแสดงธรรม’ ในเวลาที่พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย
จะไม่มีเสียงจาม หรือเสียงไอของสาวกของพระสมณโคดมเลย หมู่มหาชนมุ่งหวัง
ที่จะฟังธรรมนั้นว่า ‘เราทั้งหลายจักฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พวกเรา’ บุรุษ
บีบรังผึ้งซึ่งปราศจากตัวอ่อน ที่สี่แยกทางหลวง หมู่มหาชนก็มุ่งหวังที่จะได้น้ำผึ้งนั้น
แม้ฉันใด ในเวลาที่พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน จะไม่มีเสียงจาม หรือเสียงไอของสาวกของพระสมณโคดมเลย หมู่มหาชน
มุ่งหวังที่จะฟังธรรมนั้นว่า ‘เราทั้งหลายจักฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคจักตรัสแก่พวกเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :283 }