เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 3. เสขปฏิปทาสูตร

ท่านพระอานนท์1ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้
ปูผ้าสังฆาฏิเป็น 4 ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยา2 โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาท
เหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ กำหนดพระทัยพร้อมจะเสด็จลุกขึ้น
[23] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เชิญเจ้าศากยมหานามะมาแล้วกล่าวว่า
“เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย3 รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียร
เครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยสัทธรรม4 7 ประการ เป็นผู้ได้ฌาน 4 อัน
เป็นธรรมอาศัยจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
[24] พระอริยสาวกเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร5อยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างนี้แล (1)


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 3. เสขปฏิปทาสูตร

พระอริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู...
ดมกลิ่นทางจมูก...
ลิ้มรสทางลิ้น...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็น
อย่างนี้แล (2)
พระอริยสาวกเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงกลืนกินอาหาร
ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่กลืนกินอาหาร
เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความ
เบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่า
และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่
ผาสุก จักมีแก่เรา’
เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นอย่างนี้แล (3)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :27 }