เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
2. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

บุคคลเมื่อบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้น ตถาคตละ
ได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ตถาคตพ้นแล้วจากการเรียกว่าวิญญาณ มีคุณอันลึกล้ำ
อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร คำว่า ‘เกิด’
นำมาใช้ไม่ได้ คำว่า ‘ไม่เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้ คำว่า ‘เกิดและไม่เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้
คำว่า ‘จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็นำมาใช้ไม่ได้”

วัจฉโคตรปริพาชกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตรปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ต้นสาละใหญ่ ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม กิ่ง ใบ เปลือก
สะเก็ด และกระพี้ ของต้นสาละใหญ่นั้น จะหลุด ร่วง กระเทาะไป เพราะเป็นของ
ไม่เที่ยง สมัยต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้น ก็ไร้กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ คงอยู่
แต่แก่นล้วน ๆ แม้ฉันใด ปาพจน์1ของท่านพระโคดมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปราศจาก
กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ คงอยู่แต่คำอันเป็นแก่น2ล้วน ๆ
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

อัคคิวัจฉโคตตสูตรที่ 2 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
3. มหาวัจฉโคตตสูตร

3. มหาวัจฉโคตตสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อวัจฉโคตร สูตรใหญ่
เรื่องกุศลธรรมและอกุศลธรรม

[193] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อวัจฉโคตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าพระองค์เคยสนทนากับท่านพระโคดมเป็นเวลานานมาแล้ว ขอประทาน
วโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศลแก่ข้าพระองค์
โดยย่อเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วัจฉะ เราจะแสดงธรรมทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล
แก่ท่านโดยย่อก็ได้ เราจะแสดงธรรมทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศลแก่ท่านโดยพิสดาร
ก็ได้ แต่เราจักแสดงธรรมทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศลแก่ท่านโดยย่อ ท่านจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว”
วัจฉโคตรปริพาชก ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[194] “วัจฉะ โลภะเป็นอกุศล อโลภะเป็นกุศล โทสะเป็นอกุศล อโทสะเป็น
กุศล โมหะเป็นอกุศล อโมหะเป็นกุศล รวมความว่า ธรรมที่เป็นอกุศลมี 3 ประการ
ธรรมที่เป็นกุศลมี 3 ประการ
ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) เป็นอกุศล ปาณาติปาตา เวรมณี(การงดเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์) เป็นกุศล
อทินนาทาน(การลักทรัพย์) เป็นอกุศล อทินนาทานา เวรมณี(การงดเว้นจาก
การลักทรัพย์) เป็นกุศล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :228 }