เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 8. นฬกปานสูตร

อุบาสิกาในศาสนานี้ได้ฟังว่า ‘อุบาสิกาชื่อนี้ตายแล้ว ได้รับพยากรณ์จากพระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘น้องหญิงนั้นเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป และ
เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จักกลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวแล้วจะทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ได้’ อุบาสิกานั้นได้เห็นเองหรือได้ฟังมาว่า ‘น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้ ...
เป็นผู้มีธรรมอย่างนี้ ... เป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้ ... เป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้ น้องหญิง
นั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้’ อุบาสิกานั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และ
ปัญญาของน้องหญิงนั้น ก็จะน้อมจิตไปเพื่อศรัทธาเป็นต้นนั้น การอยู่อย่างผาสุก
ย่อมมีแก่อุบาสิกา ด้วยประการฉะนี้แล
อุบาสิกาในศาสนานี้ได้ฟังว่า ‘อุบาสิกาชื่อนี้ตายแล้ว ได้รับพยากรณ์จากพระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘น้องหญิงนั้นเป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป เป็นผู้
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ อุบาสิกานั้นได้เห็น
เองหรือได้ฟังมาว่า ‘น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้ น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้
น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้ น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้ น้องหญิง
นั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้’ อุบาสิกานั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และ
ปัญญาของน้องหญิงนั้น ก็จะน้อมจิตไปเพื่อศรัทธาเป็นต้นนั้น การอยู่อย่างผาสุก
ย่อมมีแก่อุบาสิกา ด้วยประการฉะนี้แล
ตามที่กล่าวมานี้แล ตถาคตพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้วในภพที่
เกิดทั้งหลายว่า ‘สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น’ เพื่อให้คน
เกิดความพิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะ
และความสรรเสริญก็หามิได้ หรือด้วยความประสงค์ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยเหตุนี้’
ก็หามิได้
อนุรุทธะ กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก มีอยู่
กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตไปเพื่อศรัทธาเป็นต้นนั้น ข้อนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้นสิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธะมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
นฬกปานสูตรที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :194 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 9. โคลิสสานิสูตร

9. โคลิสสานิสูตร
ว่าด้วยภิกษุชื่อโคลิสสานิ
คุณธรรมของภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

[173] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ภิกษุชื่อโคลิสสานิ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มีมารยาท
ทรามนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร
ปรารภภิกษุชื่อโคลิสสานิ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์
ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่า
เป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายแล้ว จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่า
แต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่มีความเคารพยำเกรงใน
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการ
อยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลาย (1)
ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเข้าใจลำดับแห่ง
อาสนะว่า ‘เราจักไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เป็นเถระ และจักไม่กันอาสนะภิกษุผู้เป็นนวกะ’
ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่เข้าใจลำดับแห่งอาสนะ
จะมีผู้ติเตียนภิกษุรูปนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว
สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่เข้าใจลำดับแห่งอาสนะ’ จะมีผู้ติเตียน
ภิกษุนั้นได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์
ควรเข้าใจลำดับแห่งอาสนะ (2)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :195 }