เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 8. นฬกปานสูตร

แม้อุทธัจจกุกกุจจะก็ยังครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ แม้วิจิกิจฉาก็ยังครอบงำจิต
ของกุลบุตรนั้นอยู่ แม้ความริษยาก็ยังครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ แม้ความเป็น
ผู้เกียจคร้านก็ยังครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ กุลบุตรนั้น ยังไม่บรรลุปีติและสุข
หรือสุขอื่นที่ละเอียดกว่านั้นอันสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
อนุรุทธะ กุลบุตรบรรลุปีติและสุข หรือสุขอื่นที่ละเอียดกว่านั้นอันสงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลาย แม้อภิชฌาก็ครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ไม่ได้ แม้พยาบาท
ก็ครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ไม่ได้ แม้ถีนมิทธะก็ครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่
ไม่ได้ แม้อุทธัจจกุกกุจจะก็ครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ไม่ได้ แม้วิจิกิจฉาก็ครอบงำ
จิตของกุลบุตรนั้นอยู่ไม่ได้ แม้ความริษยาก็ครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ไม่ได้ แม้ความ
เป็นผู้เกียจคร้านก็ครอบงำจิตของกุลบุตรนั้นอยู่ไม่ได้ กุลบุตรนั้น บรรลุปีติและสุข
หรือสุขอื่นที่ละเอียดกว่านั้นอันสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายได้

พระตถาคตกับอาสวะ

[168] อนุรุทธะ เธอทั้งหลายจะคิดอย่างไรในเราว่า “ตถาคตยังละอาสวะ
อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์
ให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ตถาคตพิจารณาแล้วจึงเสพของ
อย่างหนึ่ง อดกลั้นของอย่างหนึ่ง เว้นของอย่างหนึ่ง บรรเทาของอย่างหนึ่งบ้างไหม”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้คิดในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
‘พระตถาคตยังทรงละอาสวะอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวน
กระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุนั้น
พระตถาคตพิจารณาแล้วจึงทรงเสพของอย่างหนึ่ง อดกลั้นของอย่างหนึ่ง เว้นของ
อย่างหนึ่ง บรรเทาของอย่างหนึ่ง’
แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้คิดในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘พระตถาคตทรง
ละอาสวะอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบาก
เป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปได้แล้ว เพราะเหตุนั้น พระตถาคตพิจารณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :188 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 8. นฬกปานสูตร

แล้วจึงทรงเสพของอย่างหนึ่ง อดกลั้นของอย่างหนึ่ง เว้นของอย่างหนึ่ง บรรเทาของ
อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ ตถาคตละอาสวะอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปได้แล้ว
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้วไม่อาจงอกขึ้นอีกได้ แม้ฉันใด ตถาคตก็
ฉันนั้นเหมือนกัน ละอาสวะอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวน
กระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ตถาคตพิจารณาแล้วจึงเสพของอย่างหนึ่ง อดกลั้นของอย่างหนึ่ง
เว้นของอย่างหนึ่ง บรรเทาของอย่างหนึ่ง
เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ตถาคตพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์อะไร
จึงพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้วในภพที่เกิดทั้งหลายว่า ‘สาวกชื่อโน้นเกิด
ในภพชื่อโน้น สาวกชื่อโน้นเกิดในภพชื่อโน้น”
“ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงโปรดอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังคำ
อธิบายของพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุรุทธะ ตถาคตจะพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้วในภพที่เกิดทั้งหลาย
ว่า ‘สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น’ เพื่อให้คนเกิดความ
พิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและความ
สรรเสริญก็หามิได้ หรือด้วยความประสงค์ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยเหตุนี้’ ก็หามิได้
อนุรุทธะ กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก มีอยู่
กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ข้อนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้นตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :189 }