เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 6. ลฏุกิโกปมสูตร

“อุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า
‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยที่ต้องละนี้จะ
สำคัญอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้เราทั้งหลายละ พระสุคตจึงตรัสสอนให้
เราทั้งหลายสลัดทิ้ง’ พวกเขาละความผิดนั้นทั้งที่ไม่มีความยำเกรงในเรา อนึ่ง ภิกษุ
ทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ละความผิดนั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความดิ้นรน ไม่หวาดกลัว
ดำรงชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤคอยู่ ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น
จัดเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร

อุปมาด้วยคนจน

[152] อุทายี เปรียบเหมือนคนยากไร้ ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็นของตน
จัดเป็นคนจน ไม่ใช่คนมั่งคั่งเลย เขามีเรือนเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องมุงและ
เครื่องประกอบอื่น ๆ ผุพัง หลุดลุ่ย ต้องคอยไล่นกกา ไม่เป็นรูปบ้าน มีแคร่อันหนึ่ง
ก็ผุพังแทบไม่เป็นแคร่ มีข้าวเปลือกและเมล็ดพืชสำหรับหว่านหม้อหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่
พันธุ์ดี มีภรรยาคนหนึ่งก็ไม่สวย เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอารามมีมือและเท้าล้างสะอาด
สะอ้าน ฉันโภชนะล้วนน่าอร่อย นั่งอยู่ในสถานที่ร่มรื่นเย็นสบาย เจริญธรรมฝึก
สมาธิ เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ความเป็นสมณะน่าสุขสบายหนอ ความเป็น
สมณะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหนอ เราควรจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง’
แต่เขาไม่อาจสละเรือนหลังเล็กนั้นซึ่งมีเครื่องมุงบังและเครื่องประกอบอื่น ๆ ผุพัง
หลุดลุ่ย ต้องคอยไล่นกกา ไม่เป็นรูปบ้าน ไม่อาจละแคร่อันหนึ่งที่ผุพังแทบไม่
เป็นแคร่ ไม่อาจละข้าวเปลือกและเมล็ดพืชสำหรับหว่านหม้อหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ดี
ไม่อาจละภรรยาคนหนึ่งซึ่งมีรูปไม่สวย แล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้
อุทายี ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เครื่องผูกที่ผูกบุรุษนั้น ผู้ไม่อาจละเรือนหลังเล็ก ๆ
หลังหนึ่งซึ่งมีเครื่องมุงบังและเครื่องประกอบอื่น ๆ ผุพัง หลุดลุ่ย ต้องคอยไล่นกกา
ไม่เป็นรูปบ้าน ไม่อาจละแคร่อันหนึ่งที่ผุพังแทบไม่เป็นแคร่ ไม่อาจละข้าวเปลือกและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :169 }