เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 6. ลฏุกิโกปมสูตร
ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ‘คหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะ
ถวายของควรเคี้ยว ของควรฉันอันประณีตแม้ใดแก่เราทั้งหลายในเวลาวิกาลกลางวัน
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตรับสั่งให้เราทั้งหลายเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางวันแม้นั้น
เสียแล้ว’
ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเมื่อพิจารณาเห็นความรัก ความเคารพ ความละอาย
และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงยอมเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางวัน
นั้นเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นจึงฉันในเวลาเย็นและเวลาเช้า
ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางคืนเสียเถิด’
ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคผู้สุคตรับสั่ง
ให้เราเลิกฉันโภชนะที่นับว่าประณีตกว่าบรรดาโภชนะทั้งสองนี้เสีย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนหนึ่งได้ของที่ควรจะแกงมา
ในเวลากลางวัน จึงบอกภรรยาอย่างนี้ว่า ‘เอาเถิด เธอจงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมด
จักบริโภคพร้อมกันในเวลาเย็น อะไร ๆ ทั้งหมดที่จะปรุงกินย่อมมีรสอร่อยในเวลา
กลางคืน เวลากลางวันมีรสไม่อร่อย’
ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นความรัก ความเคารพ ความละอาย
และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงยอมเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางคืน
นั้นเสีย
เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวบิณฑบาตไปในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไป
ใกล้บ่อน้ำครำบ้าง ตกลงในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบแม่โค
ที่กำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมบ้าง ผู้ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง ถูกมาตุคาม
ชักชวนให้เสพสมบ้าง
เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตไปในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่ง
กำลังล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดยแสงฟ้าแลบแล้วตกใจกลัวร้องเสียงหลงว่า
‘ว้าย ! ผีหลอก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :166 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 6. ลฏุกิโกปมสูตร

เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงพูดกับเธอว่า ‘ไม่ใช่ผีหรอก
น้องหญิง เราเป็นภิกษุยืนบิณฑบาตอยู่’
หญิงนั้นกล่าวว่า ‘พ่อแม่ของภิกษุคงตายแล้วกระนั้นหรือ ภิกษุ ท่านเอา
มีดคม ๆ สำหรับเชือดโคมาเชือดท้องของดิฉันเสียยังดีกว่า การที่ท่านมาเที่ยว
บิณฑบาตในเวลามืดค่ำอย่างนี้เพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่ดีเลย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ จึงคิดอย่างนี้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลาย
ออกไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้ พระผู้มี
พระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย”

อุปมาด้วยนางนกมูลไถ

[150] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี อย่างนั้นเหมือนกัน โมฆบุรุษ
บางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ความผิดเพียงเล็กน้อยนี้จะสำคัญอะไร พระสมณะรูปนี้ช่างเคร่งครัดนัก’ พวกเขาจึง
ไม่ละความผิดนั้นทั้งที่ยังมีความยำเกรงในเราอยู่ อนึ่ง ความผิดเพียงเล็กน้อยของ
ภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ย่อมเป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย
เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ เปรียบเหมือนนางนกมูลไถถูกผูกด้วยเถาหัวด้วน ย่อมรอ
เวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้นเอง ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘เครื่องดักคือเถาหัวด้วนที่เขาใช้ผูกนางนกมูลไถซึ่งรอเวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด
หรือความตายในที่นั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่น’ ผู้นั้น
เมื่อกล่าวอย่างนี้ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่”
ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เครื่องดักคือเถาหัวด้วนที่เขา
ใช้ผูกนางนกมูลไถ ซึ่งรอเวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้นแล
เป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ พระ-
พุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :167 }