เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 4. มหามาลุงกยสูตร

ข้าพระองค์จำโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือพยาบาท(ความคิดร้าย) ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงไว้แล้วได้
ข้าพระองค์จำโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
แล้วได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“มาลุงกยบุตร เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการนี้ที่เราแสดงไว้แล้ว
อย่างนี้แก่ใคร อัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายจักหักล้างด้วยการนำเรื่องเด็กอ่อน
มาเปรียบเทียบได้ มิใช่หรือ เพราะเด็กอ่อนที่นอนหงายย่อมไม่มีแม้แต่ความคิดว่า
‘ตัวของตน’ สักกายทิฏฐิจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นได้อย่างไร สักกายทิฏฐิของเด็กนั้น
ก็ยังนอนเนื่องอยู่
เพราะเด็กอ่อนที่นอนหงายย่อมไม่มีแม้แต่ความคิดว่า ‘ธรรมทั้งหลาย’ วิจิกิจฉา
ในธรรมทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นได้อย่างไร วิจิกิจฉาของเด็กนั้น ก็ยังนอนเนื่องอยู่
เพราะเด็กอ่อนที่นอนหงายย่อมไม่มีแม้แต่ความคิดว่า ‘ศีลทั้งหลาย’ สีลัพพต-
ปรามาสในศีลทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นได้อย่างไร สีลัพพตปรามาสของเด็กนั้น
ก็ยังนอนเนื่องอยู่
เพราะเด็กอ่อนที่นอนหงายย่อมไม่มีแม้แต่ความคิดว่า ‘กามทั้งหลาย’ กามฉันทะ
ในกามทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นได้อย่างไร กามราคะของเด็กนั้น ก็ยังนอนเนื่องอยู่
เพราะเด็กอ่อนที่นอนหงายย่อมไม่มีแม้แต่ความคิดว่า ‘สัตว์ทั้งหลาย’ ความ
พยาบาทในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นได้อย่างไร พยาบาทของเด็กนั้น ก็ยัง
นอนเนื่องอยู่
อัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายจักหักล้างด้วยการนำเรื่องเด็กอ่อนมาเปรียบเทียบได้
มิใช่หรือ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :143 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 4. มหามาลุงกยสูตร

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลที่สมควร ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาล
ที่สมควรที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ ภิกษุ
ทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุบายเครื่องละสังโยชน์

[130] “อานนท์ ปุถุชน1ในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาด
ในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ มีจิตถูก
สักกายทิฏฐิกลุ้มรุม ถูกสักกายทิฏฐิครอบงำอยู่ และไม่รู้อุบายเครื่องสลัดสักกายทิฏฐิ
ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐินั้นของเขามีกำลังแก่กล้าขึ้น ปุถุชน
บรรเทาไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์
ปุถุชนมีจิตถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้อุบายเครื่อง
สลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง วิจิกิจฉานั้นของเขามีกำลังแก่กล้าขึ้น
ปุถุชนบรรเทาไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์
ปุถุชนมีจิตถูกสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุม ถูกสีลัพพตปรามาสครอบงำอยู่
และไม่รู้อุบายเครื่องสลัดสีลัพพตปรามาสที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สีลัพพต-
ปรามาสนั้นของเขามีกำลังแก่กล้าขึ้น ปุถุชนบรรเทาไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิย-
สังโยชน์
ปุถุชนมีจิตถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้อุบายเครื่อง
สลัดกามราคะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง กามราคะนั้นของเขามีกำลังแก่กล้าขึ้น
ปุถุชนบรรเทาไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์