เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 2. มหาราหุโลวาทสูตร

2. มหาราหุโลวาทสูตร
ว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรใหญ่

[113] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี แม้ท่านพระราหุลก็ครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวร ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับท่านพระราหุลว่า
“ราหุล เธอพึงเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว
หรือประณีต อยู่ไกลหรือใกล้ก็ตาม อย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”
ท่านพระราหุลทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่
พระสุคต รูปเท่านั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร
ทั้งวิญญาณ”
หลังจากนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า “วันนี้ ใครหนอที่พระผู้มีพระภาคจะทรง
ประทานโอวาทโปรดเฉพาะพระพักตร์ แล้วเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต” กลับจากที่นั้น
แล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระ
สารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ
โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงกล่าวกับท่านพระราหุลว่า
“ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติภาวนาที่
บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :125 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค]2. มหาราหุโลวาทสูตร

ธาตุ 5

[114] ครั้นเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่หลีกเร้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้
มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล รูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป1
ที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ
ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต2 หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่
ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปที่เป็น
ภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่
เป็นภายใน
ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) ที่เป็นภายในและปฐวีธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นปฐวีธาตุ
นั่งเอง บัณฑิตควรเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิต
ให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุได้