เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

ความขัดแย้งกันเรื่องอรูปพรหม

[103] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง’ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง
มีวาทะขัดแย้งโดยตรงกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหม
มีอยู่โดยประการทั้งปวง’ ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์
เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์พวกนั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘การที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง’ เราไม่เห็นด้วย แม้การที่สมณพราหมณ์
ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง’
เราก็ไม่รับรู้ด้วย ส่วนเราเอง เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น จะพึงถือเอาฝ่ายเดียว กล่าวว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย ถ้าคำของสมณ-
พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง’ เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพผู้มีรูปสำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่
ถือว่าผิด ถ้าคำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง’ เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพ
ผู้ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญาซึ่งไม่ถือว่าผิด อนึ่ง การถือท่อนไม้ การถือศัสตรา
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘เจ้า เจ้า’ การพูดส่อเสียด
และการพูดเท็จซึ่งมีรูปเป็นเหตุย่อมปรากฏ แต่ข้อนี้ย่อมไม่มีในอรูปพรหมโดย
ประการทั้งปวง’ วิญญูชนนั้นครั้นพิจารณาดังนี้แล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับแห่งรูปอย่างเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :110 }